สิ่งแวดล้อม » สมุทรสาคร | รมว.ทส. ลงพื้นที่ติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ ดึกดำบรรพ์ 2000 – 5000 ปี

สมุทรสาคร | รมว.ทส. ลงพื้นที่ติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ ดึกดำบรรพ์ 2000 – 5000 ปี

25 พฤศจิกายน 2020
1018   0

Cr.แมวดำ มหาชัย

รมว.ทส. และคณะฯ ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ ดึกดำบรรพ์ 2000 – 5000 ปี ตามหลักวิชาการ ล่าสุดขุดค้นได้มากกว่า 50% ประกอบไปด้วย กระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครง ข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่และแขน (ครีบ) ด้านซ้าย

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ หลังได้รับแจ้งการค้นพบเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

ซึ่งการสำรวจขุดค้นซากวาฬตามหลักวิชาการในพื้นที่ได้มีการดำเนินการโดยกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความอนุเคราะห์และความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ ผลการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติม พบว่าชิ้นส่วนกระดูกวาฬสะสมตัวอยู่ในตะกอนดินเหนียวทะเลโบราณ ซากดึกดำบรรพ์วาฬที่พบมีการเปลี่ยนสภาพจากการแทนที่ของแร่ธาตุอื่นยังไม่สมบูรณ์

ส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างเปราะบาง ดังนั้นจึงเร่งทำการสำรวจขุดค้น ตั้งแต่วันที่ 9 – 15 พฤศจิกายน 2563 พบมีกระดูกวาฬอีกหลายชิ้นที่เรียงตัวต่อเนื่อง และขุดค้นได้มากกว่า 50% ประกอบไปด้วย กระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครง ข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่และแขน (ครีบ) ด้านซ้าย


ต่อมาได้เข้าพื้นที่เพื่อทำการสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ผลการจุดค้นพบชิ้นส่วนกระดูกวาฬเพิ่มเติม รวมมากกว่า 80% ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ กระดูกซี่โครง และกะโหลกพร้อมขากรรไกรสภาพสมบูรณ์

หลังจากนี้จะนำตัวอย่างไปอนุรักษ์ในห้องปฏิบัติการและเตรียมศึกษาวิจัยเพื่อระบุสายพันธุ์ต่อไป และนอกจากโครงกระดูกวาฬ คณะสำรวจยังพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบ อาทิเช่น ฟันฉลาม ฟันกระเบน เปลือกหอย ปูทะเล เพรียงทะเล และเศษไม้ และได้นำตัวอย่าง เปลือกหอย ซากพืช และกระดูกวาฬ ส่งวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14)

คาดว่าจะทราบผลประมาณอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า  ทั้งนี้จากการพบโครงกระดูกวาฬบนแผ่นดินซึ่งห่างจากขายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร ในครั้งนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน อีกทั้งสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต และได้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ร่วมกับวาฬ

นอกจากนี้ผลที่ได้จากการสำรวจด้วยวิธีการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์ ยังช่วยในการแปลความหมายถึงสภาพแวดล้อมในอดีต และหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ตำบลอำแพงนี้อีกด้วย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภายหลังการขุดพบซากโครงกระดูกวาฬอายุประมาณ 2,000 – 6,000 ปี บริเวณตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้น พบว่า ลักษณะกระดูกที่พบมีลักษณะเดียวกับที่พบในวาฬบรูด้า

ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจวิเคราะห์โดยละเอียด และลักษณะที่พบนี้บ่งชี้ได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวสมบูรณ์มาแต่ยุคอดีต ธรรมชาติเก็บหลักฐานเป็นเครื่องพิสูจน์ความสมบูรณ์ของพื้นที่ อีกทั้งเป็นเครื่องแสดงให้ทุกฝ่ายร่วมกันอนุรักษ์ ดูแลให้คงอยู่อย่างสมดุล และยั่งยืน ต่อไป ขณะที่ในส่วนของการค้นซากวาฬ

เบื้องต้นทางทีมนักสำรวจและนักวิชาการระบุว่า อายุของซากวาฬประมาณ 2,000 – 6,000 ปี ซากกระดูกเริ่มมีการแทนที่ด้วยแร่ธาตุแล้วบางส่วน จึงนับว่าเป็นกึ่งซากดึกดำบรรพ์ (Subfossil) ที่จะต้องตรวจสอบโดยละเอียดด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 อีกครั้ง สำหรับชนิดพันธุ์ของซากวาฬดังกล่าว ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำทีมนักวิชาการพิสูจน์อัตลักษณ์เบื้องต้น พบว่า ลักษณะกระดูกที่พบมีลักษณะเดียวกับที่พบในวาฬบรูด้า

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิชาการดังกล่าวจะได้ตรวจพิสูจน์โดยละเอียด  สำหรับการขุดค้นพบครั้งนี้ จุดที่พบห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน

อีกทั้งสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต และได้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่มีมานับพันปี โดยปัจจุบันพื้นที่นี้ก็ยังคงความสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี เรายังพบเห็นวาฬบรูด้า ประมาณ 50 ตัว นอกจากนี้พื้นที่อ่าวไทยตอนบน  ยังพบโลมาอิรวดี โลมาหลังโหนกหรือโลมาเผือก และโลมาหัวบาตรหลังเรียบ

สุดท้ายตนอยากจะฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคนว่า “ทะเลประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์มานับหลายพันปี ธรรมชาติเก็บหลักฐานความสมบูรณ์ให้เราได้เห็น ซากดึกดำบรรพ์เป็นตัวเก็บเรื่องราวในอดีตให้เราได้เรียนรู้ เป็นเครื่องบ่งชี้ความสมบูรณ์ในอดีต และที่สำคัญเป็นเครื่องสะท้อนให้เราต้องตระหนักว่า ความสมบูรณ์มิได้เกิดขึ้นในรุ่นเรา หน้าที่ของเรา คือ ดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์นี้ ให้คงอยู่อย่างมีชีวิต สมดุล และยั่งยืน”

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการดำเนินการของหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตนได้สั่งการให้นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เร่งรังวัดพื้นที่ พร้อมจัดทำแผนที่และผังการวางตัวของโครงกระดูกวาฬ เก็บกู้และอนุรักษ์ซากกระดูก

หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต้องป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ตนได้มอบหมายให้นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำทีมนักวิชาการและสัตวแพทย์ ลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์ซาก เพื่อหาอัตลักษณ์เฉพาะของวาฬ เพื่อระบุชนิดพันธุ์ที่ถูกต้องชัดเจน

ซึ่งล่าสุดการขุดค้นได้มากกว่า 80% พบกะโหลกพร้อมขากรรไกรสภาพสมบูรณ์มีความยาวประมาณ 3 เมตร และความยาวทั้งตัวประมาณ 12 เมตร กระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครง ข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่และแขน (ครีบ) ด้านซ้าย และกระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ

นอกจากนี้ ตนคิดว่าในพื้นที่ดังกล่าวอาจจะมีซากดึกบรรพ์ของสัตว์ทะเลกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งหากพี่น้องประชาชนในพื้นที่พบเห็นซากหรือสงสัยว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ ขอให้แจ้งหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยเร็ว เพื่อจะได้ตรวจพิสูจน์และดำเนินการรักษา คุ้มครองต่อไป.