Cr.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
สทนช. เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เร่งรัดแก้ปัญหาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 6 แห่ง พร้อมตั้งคณะทำงานบูรณาการและสร้างเอกภาพในการทำงาน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ครั้งที่ 1/2563 เมื่อเร็วๆนี้ ว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ อยู่ภายใต้โครงสร้างของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แต่งตั้งโดยคำสั่งของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 เพื่อกำหนดนโยบาย การพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง
รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ การเข้าใช้ประโยชน์ การเร่งรัดและติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ของหน่วยงานเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเข้าไปแก้ไขปัญหาและลดช่องว่างการดำเนินงานต่าง ๆ ให้สามารถขับเคลื่อนแผนหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองสำหรับใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้ง
สำหรับการประชุมนัดแรก ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบนโยบาย และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยในเบื้องต้นกำหนดให้มีการบูรณาการการดำเนินงานเชิงพื้นที่ (Area Based)
สำหรับแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองที่มีแผนหลัก ได้แก่ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงราชนก จ.พิษณุโลก และหนองหาร จ.สกลนคร ให้เร่งรัดดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบแนวทางและเป้าหมายของแผนหลัก พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้า การใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ของโครงการให้ สทนช. ทราบ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป
ส่วนแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองที่ต้องจัดทำแผนหลักเป็นลำดับต่อไปนั้น ที่ประชุมมีมติให้วิเคราะห์และคัดเลือกแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ที่มีความสำคัญ/มีปัญหาเร่งด่วน หรือเป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะแรก โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่า แหล่งน้ำธรรมชาติ จะต้องเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือมีความสำคัญระดับนานาชาติ รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ หรือปริมาณกักเก็บน้ำมากกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมีพื้นที่ครอบคลุมมากกว่า 1 จังหวัด
ส่วนแม่น้ำลำคลอง ต้องเป็นคลองธรรมชาติหรือคลองขุดที่สำคัญและไม่เป็นทางน้ำชลประทาน มีการใช้ประโยชน์หลายกิจกรรมหรือมีผลกระทบต่อชุมชนสูง ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ ตลอดจนเร่งรัดให้มีการศึกษาและจัดทำแผนหลักการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อเป็นกรอบในการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง
อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ และมีความสำคัญระดับนานาชาติ เพื่อจัดทำแผนหลัก รวม 6 แห่ง ได้แก่ แอ่งเชียงแสน จ.เชียงราย มีพื้นที่ 8,164 ไร่ หนองเล็งทราย จ.พะเยา เนื้อที่ 5,050 ไร่ กว๊านพะเยา จ.พะเยา มีพื้นที่ 11,861 ไร่ บึงสีไฟ จ.พิจิตร มีพื้นที่ 5,070 ไร่ กุดทิง จ.บึงกาฬ มีพื้นที่ 16,500 ไร่ และบึงละหาน จ.ชัยภูมิ มีพื้นที่ 18,181 ไร่ โดยคณะอนุกรรมการฯ จะเร่งปรับปรุงแผนงานและงบประมาณเพื่อเตรียมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อให้ทันต่อการอนุมัติงบประมาณในปี 2565 ต่อไป
“รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำในด้านต่าง ๆ จึงต้องการนำแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ ทั้งแม่น้ำ หนอง บึง ทะเลสาบ รวมถึงบ่อน้ำพุต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองมีจำนวนมาก และมีหลายหน่วยงานดูแลตามภารกิจของตนเอง ทำให้ไม่มีความเป็นเอกภาพในการดำเนินการ และขาดความต่อเนื่องในการดูแลรักษา
ส่งผลให้แหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เหล่านั้น มีสภาพเสื่อมโทรม รวมทั้งขาดการจัดระเบียบจนเกิดการบุกรุกเข้าครอบครองการทำประโยชน์ทั้งจากหน่วยงานราชการและประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ขึ้นมา นับเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ ในเบื้องต้น ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการฯ จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย
1.คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 2.คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก 3.คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร และ 4.คณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูหนองหาร จังหวัดสกลนคร
เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบูรณาการการดำเนินการและเร่งรัดการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา และฟื้นฟูสภาพของแหล่งน้ำนั้น ๆ ให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ และฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ให้กลับมาสมบูรณ์ได้อย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สทนช.กล่าวย้ำในตอนท้าย