Cr.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
สทนช. คลอดผลการศึกษาโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดอีสาน คัด 33 โครงการสำคัญ เร่งด่วนจากกว่า 1,500 โครงการ นำร่องเพิ่มศักยภาพด้านการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมความมั่นด้านน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้ดำเนินการศึกษาโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3จังหวัด บรรเทาปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืน
สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20ปี ที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งการแก้ปัญหาอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ และฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม
ทั้งนี้จากผลการประเมินศักยภาพของพื้นที่และความต้องการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน พบว่า ในพื้นที่เป้าหมายพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร น้ำอุปโภค บริโภค นอกจากนั้นยังมีบางพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบปัญหาอุทกภัย และอนาคตมีความจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า การศึกษาข้อมูลทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ 6 ด้าน ตามลำดับ คือ ภัยแล้งและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ปัญหาอุทกภัย ปัญหาคุณภาพน้ำ การจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ โดยได้กำหนดแนวจัดทำแผนหลักการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2564-2580) จำนวน 1,523 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 36,114 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นได้มีการคัดเลือกโครงการสำคัญ เกิดผลสัมฤทธิ์สูง สร้างผลประโยชน์ในวงกว้างต่อหลายตำบล หลายอำเภอ ที่ควรจะดำเนินการก่อนจำนวน 33 โครงการ กักเก็บน้ำต้นทุนได้เพิ่ม 100.4 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 107,000 ไร่ และประชากรได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 66,334 ครัวเรือน
นอกจากนี้ได้มีการพิจารณาโครงการเร่งด่วนและสำคัญ ในการแก้ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และการส่งเสริมพื้น ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อศึกษาความสมของโครงการให้ครอบคลุมทุกๆด้าน จำนวน 3 โครงการคือ 1.โครงการฟื้นฟูพัฒนาหนองกอมเกาะ จ.หนองคาย ด้วยการขุดลอกหนองและคลองระบาย ยกระดับเก็บกักน้ำให้หนองกอมเกาะได้ความจุน้ำ 11 ล้านลบ.ม. และก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 6,850 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 5,550 ครัวเรือน
และยังสามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการประมง การวิจัย และการท่องเที่ยวได้ 2.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยมุก จ.มุกดาหาร เป็นแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายเก็บน้ำในพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารจำนวน 4 แห่ง ปริมาณความจุเก็บกักรวม 13.5 ล้านลบ.ม. งานประตูระบายน้ำ 2 แห่งและคลองส่งน้ำห้วยมุก-ห้วยโปความยาว 10.4 กิโลเมตร
เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ ช่วยบรรเทาภัยน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร และ3. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยบ่อ จ.นครพนม ประกอบด้วย ด้วยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยบ่อ ยกระดับฝายห้วยบ่อ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยมุดเค พร้อมระบบสูบน้ำส่งนิคมอุตสาหกรรม เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนในประเทศได้ 8.83 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ราว 6,300 ไร่ เป็นต้น
“สทนช.จะได้นำแผนที่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่เสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในระยะต่อไป ทุกโครงการประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณพื้นที่ของโครงการ จะต้องสามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ สามารถนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค ใช่้เพื่อการเกษตรได้อย่างทั่วถึง
ซึ่งจะสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และทีี่สำคัญจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวให้กับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 จังหวัดกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนและกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพโดดเด่นด้านระบบการขนส่ง สามารถเชื่อมโยงการค้า-การลงทุนระหว่างประเทศ
นอกจากนี้แต่ละจังหวัดยังมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การแต่งกาย ภาษาที่ใช้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวได้อีกด้วย” เลขาธิการ สทนช.กล่าวย้ำในตอนท้าย