ทีมสัตวแพทย์พร้อมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อช.กุยบุรี รักษาช้างป่าบาดเจ็บที่ขาหน้าต่อเนื่อง แม้จะสูญเสียเจ้าหน้าที่อุทยานไปแล้ว 1 คน สัตวแพทย์ประเมินบาดแผล พบมีอาการดีขึ้น ขาบวมน้อยลง หลังรักษาด้วยการยิงลูกดอกใส่ยาฆ่าเชื้อ และผสมยาแก้อักเสบกับวิตามินบำรุงร่างกายใส่ในผลไม้ ด้าน หน.อช.กุยบุรี จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัยหลังช้างป่าเข้ามานอนใกล้บ้านชาวบ้าน
วันที่ 26 ธันวาคม 2563 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าฯ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.4 (หุบมะซาง) และจุดสกัดท่ากระทุ่น พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย
ได้เข้าติดตามอาการช้างป่าซึ่งได้รับบาดเจ็บ บริเวณขาหน้าข้างขวา และถูกพบเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่บริเวณ หมู่ 4 บ้านท่าวังหิน ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยังติดตามรักษาอาการบาดเจ็บของช้างป่าต่อเนื่อง แม้จะเคยเกิดเรื่องร้ายจนต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่อุทยานฯไป 1 คน ก็ตามที
ทั้งนี้ผลการติดตามอาการช้างป่า มีรายละเอียดดังนี้ พบว่าช้างป่าตัวที่ได้รับบาดเจ็บ ล่าสุดได้ลงมาเล่นน้ำในสระบริเวณสวนยางพาราของชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านท่าวังหิน บริเวณพิกัด 580244E 1366328N ตั้งแต่ช่วงเช้า กระทั่งช่วงบ่ายเวลาประมาณ 14.00 น. จึงได้ขึ้นจากสระ มาหากินที่บริเวณป่ายางข้างสระดังกล่าว
สัตวแพทย์หญิงภาวิณี แก้วแกม สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายพร้อมทีมงาน ได้ประเมินอาการบาดเจ็บ พบว่า ขาหน้าข้างขวามีอาการบวมลดลง บริเวณแผลตรงขามีลักษณะเปื่อยเนื่องจากช้างป่า ได้ลงไปแช่น้ำเป็นระยะเวลานาน ส่วนการกินอาหารของช้างป่า พบว่า ยังกินได้เป็นปกติ
สำหรับการรักษาในวันนี้ได้ยิงลูกดอกใส่ยาฆ่าเชื้อให้กับช้างป่า ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 พร้อมกับให้ยากินแบบเม็ด ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อ,ยาแก้อักเสบ และวิตามินบำรุงร่างกาย ที่นำมาใส่ไว้ในผลไม้ นำไปวางยังบริเวณใกล้เคียงกับที่ช้างป่าอยู่อาศัย ซึ่งช้างป่าสามารถกินผลไม้ที่ใส่ยาไว้จนหมด
ซึ่งนางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าร่วมกับราษฎรบ้านท่าวังหิน เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่ชาวบ้านและช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บตัวดังกล่าว วนเวียนอาศัยหากินและเข้ามานอนใกล้บ้านของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เฝ้าติดตามช้างป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อความอุ่นใจของชาวบ้าน พร้อมกับติดตามอาการบาดเจ็บของช้างป่าไปพร้อมกัน