ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า ช้างป่าบาดเจ็บที่ ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี รักษาอย่างต่อเนื่องมานาน 24 วันแล้ว แต่ชาวบ้านบางรายเข้าใจผิด นำภาพไปโพสต์แชร์ในสื่อออนไลน์ ว่าเป็นช้างป่าตกบ่อน้ำขึ้นเองไม่ได้ ซึ่งข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความจริง วอนโซเชียลงดแชร์ข้อมูลที่เกิดจากการเข้าผิดใจดังกล่าว
วันที่ 2 มกราคม 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รายงานความคืบหน้าในการรักษาอาการช้างป่าบาดเจ็บ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 24 ของการรักษา
ทั้งนี้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าฯ เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.4 (หุบมะซาง) เจ้าหน้าที่จุดสกัดท่ากระทุ่น , เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่กร. 6 (แพรกตะลุย) และผู้ใหญ่บ้าน,ชรบ. หมู่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านท่าวังหิน
พร้อมด้วยทีมงานจากสัตวแพทย์ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย ได้เข้าติดตามอาการช้างป่าซึ่งได้รับบาดเจ็บ บริเวณขาหน้าข้างขวาเป็นการต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 หมู่ 4 บ้านท่าวังหิน ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลการติดตามอาการประจำวันที่ 24 ของการรักษา ปรากฎว่า
ช้างป่าตัวที่ได้รับบาดเจ็บ ออกมาหากินและลงเล่นน้ำในสระน้ำบริเวณใกล้สวนยางพาราของชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านท่าวังหิน บริเวณพิกัด 580213E 1366320N
โดยพฤติกรรมของช้างป่าในช่วงนี้ จะลุกขึ้นยืนเล่นฝุ่นบริเวณขอบสระบ้างเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่จะลงไปนอนแช่และเล่นในน้ำตลอดทั้งวัน โดยเมื่อสองวันที่ผ่านมา พบว่า ช้างป่ากิน นอน เล่นฝุ่นในสระ ไม่ยอมเดินขึ้นมาด้านบน
โดยในวันนี้นายชาคริต สังข์เศรษฐี สัตวบาลประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย ได้เข้าไปติดตามอาการและให้ยากับช้างโดยวิธียิงลูกดอก ซึ่ง สัตวแพทย์หญิงภาวิณี แก้วแกม สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย สัตวแพทย์ที่ทำการรักษาและติดตามอาการของช้างป่า มีความเห็นว่า
“เบื้องต้นอาการในวันนี้พบว่า ช้างได้ลงแช่น้ำในสระน้ำ ขาหน้าข้างขวายังมีอาการบวมอยู่ ช้างกินอาหารได้ลดลง สภาพร่างกายมีลักษณะที่ผอมลง จึงทำการให้ยาฆ่าเชื้อโดยวิธียิงลูกดอกเป็นเข็มที่ 6 และให้ยาชนิดเม็ดแบบกินซึ่งเป็นฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบและวิตามินบำรุงร่างกาย และเฝ้าตามอาการเป็นระยะๆ”
ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ ติดตั้งป้ายเตือนชั่วคราว เพื่อให้ข้อมูล แจ้งเตือนราษฎรและผู้สัญจรไปมา มิให้เข้าใกล้ช้างป่าตัวดัวกล่าว เพราะอาจเกิดอันตรายกับประชาชนได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ช้างป่าตัวดังกล่าวได้ทำร้าย นายบุญชู โตเต็ม อายุ 55 ปี เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าชุดที่ 3 และหัวหน้าจุดสกัดท่ากระทุ่น อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จนเสียชีวิตมาแล้ว อีกทั้งต้องการให้ประชาชนผู้สัญจรไปมา ได้ทราบว่า ช้างป่าตัวดังกล่าว เจ้าหน้าที่ติดตามอาการและอยู่ระหว่างการรักษา ของทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
นอกจากนี้ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าร่วมกับราษฎรบ้านท่าวังหิน เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่ชาวบ้านและช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ เข้ามานอนใกล้บ้านชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว และเพื่อเป็นการเพิ่มความอุ่นใจให้แก่ชาวบ้านด้วย พร้อมติดตามพฤติกรรมช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ
แต่ปรากฎว่า มีประชาชนบางรายเข้าใจผิด ถ่ายภาพช้างป่าแช่น้ำ และภาพป้ายเตือนของอุทยานฯ ไปโพสต์ในสื่อออนไลน์ พร้อมระบุว่า “ให้ช่วยเหลือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช้างป่าออกมาหากินแล้วตกบ่อน้ำชาวบ้าน ขาเจ็บ ไม่สามารถขึ้นมาได้มาหลายวันแล้ว จุดเกิดเหตุที่บ้านท่าวังหิน ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์” จนเกิดความสับสนขึ้นนั้น
ขอยืนยันว่า “ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนในประเด็นสำคัญหลายประการ เบื้องต้นช้างป่าตัวดังกล่าวไม่ได้ตกบ่อน้ำ แต่เป็นการเดินลงไปแช่น้ำของช้างป่าเพื่อคลายความเจ็บปวดบาดแผลตามสัญชาตญาณของสัตว์ป่า ซึ่งอยู่ในการดูแลของทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ต่อเนื่องมา 24 วันแล้ว และจากนี้เจ้าหน้าที่เตรียมปรับแผนการรักษาเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับสุขภาพของช้างป่าต่อไป”