สิ่งแวดล้อม » ปราณบุรี | ทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานฯ ปรับแผนรักษา ยิงยาสลบช้างป่า นำขึ้นฝั่งรักษาแผลแล้ว

ปราณบุรี | ทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานฯ ปรับแผนรักษา ยิงยาสลบช้างป่า นำขึ้นฝั่งรักษาแผลแล้ว

4 มกราคม 2021
904   0

ทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปรับแผนการรักษา “ช้างป่าบาดเจ็บ” สูบน้ำออกจากสระ แล้วยิงยาสลบ ก่อนนำช้างป่าขึ้นฝั่ง เร่งให้ยาและรักษาบาดแผลที่ขาทันที ทั้งยาฆ่าเชื้อ น้ำเกลือและวิตามิน ล่าสุดช้างป่าเริ่มส่งสัญญาณดี เริ่มขยับตัวและลุกขึ้นเดินได้เองแล้ว

วันที่ 4 มกราคม 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าในการรักษาช้างป่าบาดเจ็บที่ หมู่ 4 บ้านท่าวังหิน ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้น  ตนพร้อมด้วยนายไพโรจน์ นาครักษา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ 

นายจำลอง จงศรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร , นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี , นายสุรศักดิ์ อนุเมธางกูร หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย ลงพื้นที่ติดตามการรักษา ซึ่งมีการปรับแผนใหม่ให้สอดคล้องกับสุขภาพของช้างป่าโดยด่วนที่สุด

โดยในวันนี้  สัตวแพทย์หญิงกิตติยาภรณ์  เอี่ยมสะอาด  สัตวแพทย์กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  พร้อมด้วย  สัตว์แพทย์หญิงกนกวรรณ ตรุยานนทน์  นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง , สัตวแพทย์หญิงภาวิณี  แก้วแกม สัตวแพทย์สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย ได้เข้ารักษาช้างป่าตัวดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี  , ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านท่าวังหิน  และชาวบ้านได้ร่วมติดตามการดูแลรักษาช้างป่าด้วย

สำหรับการรักษาในวันนี้ หลังจากทีมสัตวแพทย์ได้ประเมินสุขภาพและบาดแผลของช้างป่าล่าสุดแล้ว  ได้ตัดสินใจสูบน้ำออกจากสระ  กระทั่งเวลาประมาณ 10.48 น. ทีมสัตวแพทย์ได้เริ่มวางยาสลบ จากนั้นเวลาประมาณ 11.14 น. ทำการยกช้างป่าที่บาดเจ็บโดยรถแม็คโครและรถเครนมายังที่จัดเตรียมรักษาเนื่องจากช้างป่า ไม่ยอมเดินขึ้นจากน้ำเอง

ต่อมาเวลาประมาณ 12.04 น. สัตวแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการให้น้ำเกลือจำนวน 8,000 mL  และให้ยาปฏิชีวนะ, ลดปวด, ลดอักเสบ, วิตามิน โดยให้เข้าทางเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ และให้วัคซีน tetanus toxoid  เพื่อป้องกันบาดทะยัก ทำความสะอาดบาดแผลบริเวณขาหน้าข้างขวา ซึ่งมีลักษณะบวม กว้างประมาณ 15 ซม. แข็งเป็นก้อน ไม่มีหนอง และได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจสุขภาพและตรวจโรคและประเมินสุขภาพของช้างป่า

โดยทีมสัตวแพทย์ได้เฝ้าดูอาการใกล้ชิด และช้างป่าเริ่มส่งสัญญาณดี ในเวลาประมาณ 15.15 น. เริ่มขยับตัวและลุกขึ้นเดินได้เอง สร้างความดีใจให้กับทีมรักษาและเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่มาติดตามการรักษาช้างป่าเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์ได้ลงความเห็นว่า ต้องติดตามอาการช้างป่าอย่างต่อเนื่องและติดตามดูอาการทุกวัน ยังเป็นห่วงอาการของช้างป่า เนื่องจากอาจเกิดภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนและอาการบวมอักเสบบริเวณขาได้ .   

อุทยานแห่งชาติกุยบุรีจึงได้จัดเจ้าหน้าที่เวรยามเฝ้าติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากช้างป่ายังกินอาหาร โดยเจ้าหน้าที่ได้โยนอาหาร(ขนุน)ให้กิน ช้างป่ายังใช้งวงจับอาหารกินได้ดี และยังสามารถขับถ่ายได้  ซึ่งช้างป่ามีสัญชาตญาณสัตว์ป่าซึ่งมีความดุร้าย การรักษาจึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง