สิ่งแวดล้อม » ปราณบุรี | สัตวแพทย์ห่วงช้างป่า เกิดแผลที่สะดืออักเสบเพิ่ม ด้าน WWF.ติดกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ

ปราณบุรี | สัตวแพทย์ห่วงช้างป่า เกิดแผลที่สะดืออักเสบเพิ่ม ด้าน WWF.ติดกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ

8 มกราคม 2021
808   0

สัตวแพทย์ห่วงช้างป่า เกิดแผลที่สะดืออักเสบเพิ่ม แม้จะยังกินอาหารได้  แต่วันนี้ลุกขึ้นยืนไม่ได้ ด้าน WWF.ช่วยสนับสนุนติดกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ เพื่อติดตามพฤติกรรมของช้างป่าประกอบการรักษาแล้ว

วันที่ 8 มกราคม 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี  ได้รับรายงานจาก นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งลงพื้นที่ติดตามอาการช้างป่าที่ได้รับการเจ็บ ร่วมกับ ทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย ซึ่งเข้าประเมินอาการช้างป่าบาดเจ็บและวางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 นั้น

สำหรับการรักษาในวันนี้ ทีมสัตวแพทย์ได้วางแผนและทำการรักษา ด้วยการวางยาซึมช้างป่าเพื่อให้สามารถเข้าทำความสะอาดบาดแผลบริเวณขาหน้าข้างขวา และบริเวณก้นได้สะดวก พร้อมกับทำการให้น้ำเกลือ , น้ำตาล , ยาปฏิชีวนะ , ยาลดปวด , ลดอักเสบ , วิตามิน เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายของช้างป่า

โดยตรวจพบว่า บริเวณสะดือมีแผลเกิดการอักเสบและมีหนอน จึงได้ทำความสะอาดแผล ให้ยาป้องกันหนอน จากนั้นช้างป่า ได้ฟื้นจากยาซึม แต่ยังไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้เอง

ซึ่งแตกต่างจากวานนี้ ที่ช้างป่าสามารถกินอาหารได้และลุกยืน โดยสามารถยืนได้ครั้งละประมาณ 1-2 นาที และล้มตัวลงนอน โดยตลอดทั้งวันช้างสามารถลุกขึ้นยืนได้จำนวน 5 รอบ ในส่วนของการกินอาหาร พบว่าวันนี้ช้างสามารถกินอาหารได้เยอะพอสมควร ทั้งขนุน 2 ลูก กล้วย 8 หวี สับปะรด 12 ลูก อ้อย 10 ท่อน มะละกอ 6 ลูก

ทั้งนี้สัตวแพทย์มีความเห็นว่า อาการวันนี้  ช้างยังกินอาหารได้แต่ไม่สามารถลุกยืนได้  แผลบริเวณขาหน้าข้างขวามีอาการบวมลดลง อาการโดยทั่วไปยังน่าเป็นห่วง ทางทีมสัตวแพทย์ต้องคอยประคับประคองอาการของช้างอย่างใกล้ชิด  ทั้งนี้ WWF.ประเทศไทย ได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อติดตามพฤติกรรมของช้างป่า ไว้เป็นข้อมูลประกอบการรักษาด้วย

อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้จัดกำลังให้เจ้าหน้าที่ติดตามอาการและเฝ้าระวังเป็นระยะ ในช่วงเวลากลางคืน พร้อมทั้งช่วยผลักดันช้างโขลงที่ออกหากินบริเวณดังกล่าวด้วย