สิ่งแวดล้อม » “แม่เต่ากระ” ขึ้นวางไข่ต่อเนื่องเป็นรังที่ 8 บนเกาะทะลุ อช.อ่าวสยาม

“แม่เต่ากระ” ขึ้นวางไข่ต่อเนื่องเป็นรังที่ 8 บนเกาะทะลุ อช.อ่าวสยาม

23 มิถุนายน 2021
539   0

Cr.อช.อ่าวสยาม(เตรียมการ)สบอ.3สาขาเพชรบุรี

แม่เต่ากระขึ้นวางไข่ต่อเนื่องเป็นรังที่ 8 บนเกาะทะลุ อช.อ่าวสยาม(เตรียมการ) เผยเป็นแม่เต่ากระที่เกิดจากธรรมชาติ แสกนไม่พบหมายเลขไมโครชิพ จึงฝังไมโครชิพให้และตั้งชื่อแม่เต่ากระตัวนี้ว่า “แม่พรพนา” ซึ่งหมายถึง ป่าอันประเสริฐ

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า นายภัทร อินทรไพโรจน์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ) ได้รายงานให้ทราบว่า

เมื่อคืนนี้ (22 มิถุนายน 2564) เวลาประมาณ 21.56 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเล สยาม ลาดตระเวนการขึ้นวางไข่ของเต่ากระในพื้นที่เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์

พบแม่เต่ากระ ขึ้นวางไข่บริเวณอ่าวเทียน พิกัด 47 P 5600372 E 1223974 N ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ)

จากการตรวจสอบเบื้องต้นที่ตัวแม่เต่าไม่พบร่องรอยบาดแผลที่เกิดจากเครื่องมือการทำประมงแต่อย่างใด และเป็นแม่เต่ากระที่เกิดจากธรรมชาติ เนื่องจากแสกนไม่พบหมายเลขไมโครชิพ บนตัวแม่เต่า

จากนั้นได้วัดลำตัวของแม่เต่า ยาว 77 เซนติเมตร กว้าง 70 เซนติเมตร วัดความกว้างของพาย 60 เซนติเมตร ขนาดหลุมวางไข่ ความกว้าง 21 เซนติเมตร ความลึก 44 เซนติเมตร

เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดหลุมรังไข่ มีไข่ทั้งหมด 124 ฟอง โดยได้ทำการย้ายรังไปไว้ในที่ซึ่งปลอดภัยจากสัตว์ที่จะเข้ามากินไข่เต่าและน้ำทะเลที่อาจท่วมถึงในช่วงเวลาน้ำทะเลขึ้นสูง โดยนับเป็นรังที่ 8 ของปีแล้ว

เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเก็บข้อมูลเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงทำการฝังหมายเลขไมโครชิพ 933076400553368 และทำการตั้งชื่อให้แม่เต่ากระตัวนี้ว่า “แม่พรพนา” ซึ่งหมายถึง ป่าอันประเสริฐ

สำหรับ “เต่ากระ” ชื่อวิทยาศาสตร์ Eretmochelys imbricata (Linnaeus, 1766) เป็นสัตว์ทะเลหายาก มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 IUCN Red List : CR (เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ) จัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ทั้งนี้ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง