สิ่งแวดล้อม » กรมอุทยานฯส่ง “หมอล็อต” ลงพื้นที่ร่วมกับปศุสัตว์เพชรบุรี วางแนวทางป้องกัน “โรคลัมปี สกิน” ที่ อช.แก่งกระจาน

กรมอุทยานฯส่ง “หมอล็อต” ลงพื้นที่ร่วมกับปศุสัตว์เพชรบุรี วางแนวทางป้องกัน “โรคลัมปี สกิน” ที่ อช.แก่งกระจาน

15 กรกฎาคม 2021
789   0

Cr.สบอ.3 สาขาเพชรบุรี

กรมอุทยานฯส่ง “หมอล็อต” พร้อมทีมสัตวแพทย์ ลงพื้นที่ร่วมกับ ปศุสัตว์เพชรบุรี วางแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของ “โรคลัมปี สกิน” ที่ อช.แก่งกระจาน โดยมีกำหนดลงพื้นที่ อช.กุยบุรี เพื่อป้องกันโรคลัมปี สกิน ระบาดสู่สัตว์ป่าด้วยอีกหนึ่งแห่ง หลังพบกระทิงตายเมื่อเดือนมิถนายนที่ผ่านมา

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วย นายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง , นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า หรือ “หมอล็อต” พร้อมสัตวแพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นางสาวภัทริน โอภาสชัยทัตต์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ พร้อมสัตวแพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์ ปศุสัตว์เพชรบุรี กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ลัมปี สกิน (Lumpy skin disease : LSD) ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์ในกลุ่มโค กระบือ โดยได้ประชุมสรุปสถานการณ์ในพื้นที่และหารือแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดร่วมกัน ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.2 (เขาสามยอด) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้สรุปแนวทางและมาตรการในการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ป่า เบื้องต้นให้สังเกตอาการป่วย/ตายผิดปกติของวัวป่า ควายป่า และกลุ่มสัตว์กีบในพื้นที่รับผิดชอบ และให้เข้มงวดในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคในสัตว์ป่า

ติดตามสถานการณ์ของโรค สุขภาพ และการทำวัคซีน ในสัตว์ปศุสัตว์โดยรอบ เพื่อประเมินสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีสัตว์กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้ทำการควบคุม ป้องกันแมลงพาหะอย่างเข้มงวด รวมถึงเฝ้าระวังและสังเกตอาการของสัตว์ป่าเป็นประจำ

ในกรณีที่พบสัตว์ป่าป่วย โดยมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะ และช่วงขา รวมทั้ง สัตว์ป่าที่มีอาการเดินผิดปกติ หรือในกรณีที่พบสัตว์ป่าตาย ให้แจ้งสัตวแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานใกล้เคียงเข้าดำเนินการตรวจสอบ พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุของการป่วยหรือตาย

พร้อมทั้งกำหนดแนวเขตกันชน ห้ามไม่ให้มีการนำสัตว์เลี้ยงเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และควบคุมไม่ให้มีการใช้พื้นที่ชายขอบป่าอนุรักษ์ในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ร่วมกันเฝ้าระวังการป่วย/ตายผิดปกติของสัตว์ป่า พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการต่อไป

ในกรณีที่พบการป่วย/ตายผิดปกติของสัตว์ป่ากลุ่มสัตว์กีบ และสงสัยว่าป่วยเป็นโรคลัมปี สกินในพื้นที่รับผิดชอบให้รายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทราบโดยด่วน

อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะดำเนินการจัดทำอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อที่ติดมากับล้อรถยนต์ และฉีดพ่นยาควบคุมแมลง ให้กับเจ้าหน้าที่,ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.2 (เขาสามยอด)

โดยหลังจากการประชุมสัตวแพทย์จากปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี ได้ทำการรักษาโคของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งติดเชื้อไวรัส ลัมปี สกิน และสัตว์แพทย์จากกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการตั้งจุดดักแมลง ในพื้นที่เพื่อตรวจสอบการระบาดของเชื่อไวรัส ลัมปี สกิน ต่อไป

นอกจากนี้มีรายงานว่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ประสานงานร่วมกับ อบต.หาดขาม ร่วมเข้าดำเนินการฉีดพ่นยาควบคุมแมลงบริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติกับหมู่บ้าน และในพื้นที่ปศุสัตว์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ลัมปี สกิน

โดยในวันพรุ่งนี้ (16ก.ค.64) นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า พร้อมสัตวแพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า , นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี , ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , นายอำเภอกุยบุรี จะร่วมลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อตรวจสอบและหารือแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ลัมปี สกิน ในพื้นที่ต่อไป