กรมอุทยานฯ วางแผนร่วมกับหลายหน่วยงานสกัด “โรคลัมปีสกิน” ลามติดสัตว์ป่า “หมอล็อต” เผย เตรียมยก อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็นต้นแบบนำร่องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบเป็นตัวอย่างให้อุทยานทั่วประเทศ ยืนยันกระทิงกุยบุรีตายเพราะบาดแผลจากการต่อสู้กัน ส่วนเชื้อลัมปีสกินที่ตรวจพบเป็นปัจจัยร่วมทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขณะที่อุทัยธานีพบร่องรอยโรคในวัวแดงแล้ว และเตรียมรายงานสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ซึ่งเกิดครั้งแรกในประเทศไทย จากสัตว์เลี้ยงระบาดมาถึงสัตว์ป่าพร้อมแนวทางการแก้ไข ไปยัง องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศได้ทราบสถานการณ์แล้ว
วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.5 ห้วยลึก อุทยานแห่งชาติกุยบุรีนายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า พร้อมทีมสัตวแพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ , นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี , หัวหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ , นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , นายสมเจตน์ เจริญทรง ปลัดอาวุโสอำเภอกุยบุรี ตลอดจนผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์และหารือถึงแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน
จากนั้นคณะได้เข้าสำรวจพื้นที่อาศัยของกระทิงและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่เป็นสัตว์กีบประเภทเดียวกันภายในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยก่อนเข้าพื้นที่ รถทุกคันจะต้องขับผ่านบ่อน้ำฆ่าเชื้อและพ่นควันไล่แมลงที่ผลิตจากสมุนไพรธรรมชาติที่รถเพื่อป้องกันการนำแมลงดูดเลือดเข้าพื้นที่ป่า ส่วนผู้โดยสารหรือบุคคลใดที่จะเข้าอุทยานจะต้องเดินผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ระหว่างทางได้เจอกับกระทิงโทนกำลังเดินหากินอยู่ในพื้นที่ ซึ่งหมอล็อต นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ได้เข้าไปตรวจสุขภาพสัตว์ป่าในระยะไกล เบื้องต้นไม่พบรอยโรคที่กระทิงตัวดังกล่าว ลักษณะผิวดำเป็นเงา ร่างกายแข็งแรง กินอาหารได้ และมีฝูงนกคลอเคลียอยู่ใกล้หลายตัว ซึ่งจะเป็นเครื่องมืออย่างดีในการกำจัดแมลงดูดเลือดที่ตัวกระทิง
จากนั้นคณะได้เข้าไปทำโป่งเทียมเพิ่มให้กับกระทิง ซึ่งประโยชน์ของโป่งเทียมนั้นนอกจากจะเป็นแหล่งเสริมสร้างแร่ธาตุที่สำคัญให้กับกระทิงและสัตว์ป่าทุกชนิดแล้ว ยังถือเป็นห้องพยาบาลสำหรับสัตว์ป่าด้วย เพราะหากสัตว์ป่ามีบาดแผลจะมาคลุกที่โป่งสารอาหารและแร่ธาตุในโป่งช่วยฆ่าเชื้อรักษาแผลให้สัตว์ป่าได้ และทีมสัตว์แพทย์ยังได้ติดตั้งมุ้งดักแมลง หลายจุดในพื้นที่ เพื่อดักจับแมลงดูดเลือดไปตรวจสอบหาเชื้อโรคไวรัสลัมปีสกิน
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้บูรณาการร่วมกับ กรมปศุสัตว์ และฝ่ายปกครอง เพื่อสกัดโรคลัมปีสกิน เตรียมยก อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็นต้นแบบนำร่องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบเป็นตัวอย่างให้อุทยานทั่วประเทศ ยืนยันกระทิงกุยบุรีตายเพราะบาดแผลจากการต่อสู้กัน เพราะมีบาดแผลชัดเจนหลายจุดตามร่างกาย ส่วนเชื้อลัมปีสกินที่ตรวจพบเป็นปัจจัยร่วมทำให้ร่างกายอ่อนแอเท่านั้น
ขณะนี้ได้ตรวจสอบพื้นที่การระบาดของโรคลัมปีสกิน จากนั้นได้กำหนดให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือ เขตรักษาพันธุ์ฯ ที่มีสัตว์ป่าประเภทสัตว์กีบ ทั้ง กระทิง วังแดง และควายป่า เพื่อกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษการแพร่ระบาดโรค ใน 5 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ อุทยาแห่งชาติกุยบุรี , อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน , ป่ารอยต่อ5จังหวัดบริเวณอ่างฤาไน , พื้นที่ดงพญาเย็น เขาใหญ่ และห้วยขาแข่ง
โดยจะนำโมเดลการปฏิบัติแก้ไขปัญหาของกุยบุรีไปปรับใช้ในพื้นที่เฝ้าระวังที่เหลือ โดยขณะนี้มีเพียง 2 แห่งที่พบร่องรอยโรคบนตัวสัตว์ป่า คือที่ ซากกระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และพื้นที่เตรียมประกาศเป็นพื้นที่เขตห้ามล่า ทับเสลา จ.อุทัยธานี ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถถ่ายภาพ ร่องรอยโรคบน วัวแดง ได้
ทั้งนี้เตรียมรายงานสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ซึ่งเกิดครั้งแรกในประเทศไทย จากสัตว์เลี้ยงระบาดมาถึงสัตว์ป่าพร้อมแนวทางการแก้ไข ไปยัง องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศได้ทราบสถานการณ์แล้ว
ทางด้าน นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งให้อุทยานแห่งชาติในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สบอ.3 สาขาเพชรบุรี เฝ้าระวังพื้นที่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เบื้องต้นได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังเข้มข้นในการเข้าพื้นที่อุทยานฯเพื่อป้องกันการนำโรคจากภายนอกเข้าเขตอุทยานฯ ทั้งการฆ่าเชื้อที่รถยนต์ทุกคันและบุคคลทุกคนที่จะผ่านเข้าอุทยานต้องผ่านบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งหมด โดยขณะนี้ได้สั่งให้อุทยานฯอื่นที่มีพื้นที่ติดกับชุมชนที่มีการระบาดของโรคลัมปีสกินสำรวจพื้นที่ของตนเองเพื่อเป็นการป้องกันด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับอำเภอกุยบุรีได้ประสานงานร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ปกครองท้องถิ่น ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับชาวบ้าน และได้ดำเนินการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ลัมปี สกิน และได้รับการจัดสรรวัคซีนจากส่วนกลางเพิ่มเติมอีก 4,000 โดส เพื่อดำเนินการฉีดให้กับโคเนื้อ และโคนม ของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อุทยานพร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์ได้เก็บข้อมูลเบื้องต้นของเกษตรกรรอบพื้นที่ รวมทั้งให้คำแนะนำในการป้องกันโรค การกำจัดแมลงและรักษาสัตว์เบื้องต้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์เกี่ยวโรคและการจัดการในสัตว์ป่า สัตว์ปศุสัตว์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคต่อกัน เพื่อเป็นการป้องกันในระยะยาว