Cr.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี สบอ.3 สาขาเพชรบุรี
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ปรับแผนติดตามกระทิงฝูง ติดตั้งกล้อง Camera Trap เพิ่ม 14 ตัว ถ่ายภาพได้โดยไม่รบกวนการดำรงชีวิตของกระทิงและสัตว์ป่า ทางด้านสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด กระจายวัคซีนป้องกันลัมปี สกิน 4,000 โดสไปยัง 5 อำเภอเป้าหมายระดมฉีดให้หมดภายในสับดาห์นี้
วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยังคงเฝ้าติดตามและเฝ้าระวังการระบาดของโรคลัมปี สกินในสัตว์เลี้ยง ลามระบาดสู่สัตว์ป่า อย่างต่อเนื่อง หลังพบซากกระทิง 2 ตัวที่ต่อสู้กันจนบาดเจ็บและตายนั้น ปรากฏเชื้อลัมปี สกิน และล่าสุดยังพบร่องรอยโรคบนผิวของกระทิงป่ากุยบุรี อย่างน้อย 2 ตัว นั้น
โดยในวันนี้ นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ปรับแผนการติดตามฝูงกระทิงในระยะใกล้เพื่อให้สามารถบันทึกภาพกระทิงได้ชัดเจนมากขึ้น โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาและวิจัย ร่วมกับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร. 5(ห้วยลึก) และ WWF ประเทศไทย
ช่วยกันติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) จำนวน 14 จุด ในพิกัดที่พบร่องรอยฝูงกระทิงออกหากิน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถบันทึกภาพได้ง่ายโดยไม่รบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า และเพื่อติดตามและเฝ้าระวังการระบาดของโรคลัมปีสกินของกระทิงและสัตว์ป่าอื่นๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ขณะนี้เดียวยังให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง) เฝ้าติดตามสังเกตุพฤติกรรมของกระทิงฝูง โดยวันนี้พบฝูงกระทิงออกหากินบริเวณแปลงหญ้า จำนวน 45 ตัว เบื้องต้นไม่พบร่องรอยโรคโรคลัมปี สกิน เพิ่มเติม หรือพบกระทิงที่ปรากฏอาการป่วย แต่อย่างใด
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูลล่าสุดปรากฎว่ามีสัตว์เลี้ยง ป่วยสะสมทั้งหมด 3,379 ตัว สัตว์เลี้ยงหายป่วยสะสม 1,026 ตัว ตายสะสม 230 ตัว สัตว์ป่วยใหม่วันนี้ 118 ตัว คงเหลือสัตว์ป่วยสะสม 2,123 ตัว
ส่วนการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือ 4,000 โดส ของกรมปศุสัตว์นั้น ขณะนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้กระจายวัคซีนไปยังพื้นที่เป้าหมายที่พบการระบาดจำนวน 5 อำเภอ โดยให้แต่ละอำเภอวางแผนการฉีดและดำเนินการฉีดวัคซีนให้หมด ภายในสับดาห์นี้