สิ่งแวดล้อม » อช.กุยบุรี เร่งทำโป่งเทียม เสริมเสริมแร่ธาตุและวิตามิน 11 โป่ง สร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์ป่า

อช.กุยบุรี เร่งทำโป่งเทียม เสริมเสริมแร่ธาตุและวิตามิน 11 โป่ง สร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์ป่า

17 สิงหาคม 2021
897   0

Cr.ภาพ ผอ.สบอ.3สาขาเพชรบุรี

“หมอล็อต” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ “โรคลัมปี สกิน” ในกระทิง ยังไม่พบร่องรอยโรคเพิ่ม ด้าน อช.กุยบุรี เร่งทำโป่งเทียมเสริมเสริมแร่ธาตุและวิตามิน 11 โป่ง สร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์ป่า

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วย นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ร่วมกับ ทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดย นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า หรือ หมอล็อต ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โรคลัมปี สกิน ในกระทิงและสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ได้จัดทำโป่งเทียม เพื่อเป็นการเสริมแร่ธาตุและวิตามินให้กับสัตว์ป่าในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคลัมปี สกิน ซึ่งโป่งเทียมที่สร้างขึ้นเพื่อเสริมแร่ธาตุและวิตามิน A D3 E ให้กับสัตว์ป่า โดยมีเป้าหมายในการจัดทำโป่งเทียมทั้งสิ้นจำนวน 11 โป่ง เบื้องต้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว จำนวน 5 โป่ง

นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า โดยหลังลงพื้นที่ติดตามดูพฤติกรรมสัตว์ป่าตามแปลงพืชอาหารสัตว์ พบทั้งช้างป่า และกระทิง ออกหากิน โดยทางสัตวแพทย์ได้ตรวจสุขภาพระยะไกลในกระทิงไม่พบร่องรอยโรค หรือมีลักษณะอาการป่วยด้วยโรคลัมปีสกินเพิ่มเติมแต่อย่างใด

สำหรับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติกุยบุรี งดการพักแรม การท่องเที่ยวชมสัตว์ป่าเป็นการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้ขณะนี้ป่าได้พักฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ แปลงหญ้าซึ่งเป็นพืชอาหารสัตว์ป่าทั้งช้าง กระทิง วัวแดง เจ้าหน้าที่สำรวจพบว่า สัตว์ป่าออกมาใช้ประโยชน์ทุกวัน

เพื่อความไม่ประมาทได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติกุยบุรีร่วมกับกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าเฝ้าระวังและติดตามการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน อย่างใกล้ชิดพร้อมวางแผนการดำเนินการเชิงรุกในแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกินในสัตว์ป่า และดำเนินการจัดทำโป่งเทียมเสริมแร่ธาตุให้แล้วเสร็จ

การติดตามเฝ้าระวังสัตว์ป่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากฝูงกระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีเป็นจำนวนมาก กระจายหากินเป็นฝูงๆละประมาณ  10-30 ตัว หรือ 40-70 ตัว หากติดโรคอาจแพร่ต่อได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ และรถยนต์ทุกคันที่ผ่านเข้าอุทยานฯ จะต้องพ่นยาฆ่าเชื้อและวิ่งผ่านบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อทุกคัน