“วราวุธ” ย้ำแนวทางแก้ไขปัญหาเขื่อนกำแพงกันคลื่น มีประสิทธิภาพ ด้าน “กรมทะเล” เร่งประกาศมาตรการกลั่นกรองโครงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
กรณีที่ นายกัญน์พงษ์ จงสุทธนามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปราย ในคราวประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระ 2 และ3 เกี่ยวกับประเด็นการจัดทำเขื่อนกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการขาว เขียว เทา ที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบและเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 และแนวทางการพิจารณากลั่นกรองโครงการก่อนขอสนับสนุนงบประมาณประจำปี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับและควบคุมการจัดทำและก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นในทุกมิติ พร้อมมาตรการรองรับด้านกฎหมาย รวมถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำลังเร่งผลักดัน Environmental checklist เพื่อกำกับและกลั่นกรองโครงการเขื่อนกำแพงกันคลื่นที่มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อเนื่อง และแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลได้พยายามริเริ่มและดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ แก้ไขปัญหาได้ครบทุกมิติและยั่งยืน และยึดหลักความร่วมมือและความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ
สำหรับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้มีการถอดบทเรียนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ให้เกิดความยั่งยืนและลดผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่ข้างเคียงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแนวทางและมาตรการขาว เขียว เทา และกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เป็นผู้พิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ถูกเสนอมารับการพิจารณาจากทุกหน่วยงานกว่า 64โครงการ ซึ่งมีโครงการที่ผ่านเกณฑ์เพียง 17 โครงการเท่านั้น
ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เสนอรายงานการพิจารณานี้ต่อสำนักงบประมาณเพื่อรับทราบและประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ปี 65 แล้ว จึงยืนยันได้ว่านับจากปี2565 เป็นต้นไปความซ้ำซ้อนของโครงการจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
แต่อย่างไรก็ตาม กรณีโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่จะก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นเป็นโครงการที่มีการศึกษาและได้รับอนุมัติมาก่อนหน้าแล้ว ทั้งนี้ ตนได้มอบให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับและหารือกับกระทรวงมหาดไทยในการก่อสร้างเขื่อนและกำแพงกันคลื่นมิให้ก่อผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง
หากโครงการใด มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ที่จะระงับการดำเนินการโครงการได้ทุกเมื่อ ซึ่งตนก็มั่นใจว่า แม้โครงการจะได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง แต่หากเกิดปัญหายังมีมาตรการทางกฎหมายรองรับที่ช่วยแก้ไขและระงับการดำเนินการมิให้สร้างผลกระทบและความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนได้ นายวราวุธ กล่าวสร้างความมั่นใจ
ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนกำแพงกันคลื่นทุกกรณี ได้ถูกยกเลิกจากประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ซึ่งกรมฯ ได้เสนอให้มีการจัดทำ Environmental Checklist เพื่อช่วยกลั่นกรองและกำกับมิให้โครงสร้างดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่าอย่างเร็วที่สุดประมาณ 6 เดือน
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ สำนักงานกฤษฎีกาว่าจะมีประเด็นพิจารณาเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม Environmental Checklist ดังกล่าว นับเป็นเครื่องมือในการกลั่นกรอง ที่มีความละเอียดในมิติต่าง ๆ ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณภาพวิถีชีวิตชุมชน มีการกลั่นกรองจากคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิอย่างรอบคอบ
อีกทั้ง ทุกกระบวนการจะเกิดจากความร่วมมือและความเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 90 วัน ทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงทีมีความถูกต้องและปลอดภัยตามหลักวิชาการ ซึ่งกรมจะเร่งผลักดัน Environmental Checklist ให้สามารถบังคับใช้และเป็นกรอบแนวทางที่สำคัญในการจัดการโครงการก่อสร้างเขื่อนกำแพงกันคลื่น ต่อไป นายโสภณ กล่าว