กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดปราณบุรี โครงการ 144 ล้าน หลังชาวบ้านค้านการสร้างเขื่อนในโซนที่ 3 บริเวณชายหาดหน้าศาลเสด็จเตี่ยฯ
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการฯ นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้บริหารกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาศึกษาดูงานและตรวจสภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งของ จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดยมี นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายปรีดา สุขใจ นายอำเภอปราณบุรี นายพีรศักดิ์ จิวรรจนะโรดม นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนชาว ต.ปากน้ำปราณ ให้การต้อนรับ
โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้รับทราบรายงานโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดปราณบุรี ความยาว 888 เมตร ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี งบประมาณก่อสร้างปี 2564 จำนวน 144 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง มีรูปแบบการก่อสร้างแบบเขื่อนคอนกรีตขั้นบันได
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีผู้ร้องคัดค้านคือ นายพิษณุพงศ์ เหล่าลาภยศ ประธานกลุ่มคนรักทะเลและชายหาดปราณบุรี ที่เห็นควรยกเลิกการสร้างเขื่อนในโซนที่ 3 บริเวณชายหาดหน้าศาลเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ความยาวประมาณ 205 เมตร
โดยให้เหตุผลว่าหากมีการสร้างเขื่อนบริเวณดังกล่าวอาจจะทำให้ชายหาดหายไป ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ชายหาดบริเวณถัดไปถูกกัดเซาะรุนแรงมากขึ้น จึงขอให้มีการปรับแบบให้เหลือเพียงแค่การปรับภูมิทัศน์เท่านั้น เนื่องจากโครงการนี้มีการปรับภูมิทัศน์บริเวณศาลเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์บรรจุเข้ามาด้วย ซึ่งทางกลุ่มไม่ได้คัดค้าน เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนในโซนที่ 1 และ 2 ทางด้านทิศใต้ ความยาวประมาณกว่า 600 เมตร ทางกลุ่มก็ไม่ได้คัดค้านใดๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เห็นว่ามีการกัดเซาะจริง
ด้าน นายพีรศักดิ์ จิวรรจนะโรดม นายกเทศมนตรีตำบลปากนำ้ปราณ กล่าวว่า โครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดปราณบุรี เกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่เห็นถึงผลกระทบของการกัดเซาะชายฝั่ง จึงได้มีการร้องขอให้มีการสร้างเขื่อนมายังเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ
ต่อมาเทศบาลจึงได้เสนอเรื่องไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง จนได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ โดยที่ผ่านมาได้มีการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว 3 ครั้ง มีการปรับแบบก่อสร้างและประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็เห็นด้วยที่จะให้ดำเนินการ
ซึ่งโครงการในโซนที่ 1 และ 2 ด้านทิศใต้ คงจะไม่มีปัญหาจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตามแผน แต่โซนที่ 3 ที่ยังมีผู้คัดค้านคงจะต้องมีการจัดประชุมระดับจังหวัดเพื่อนำข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาพูดคุยกันเพื่อให้ได้แนวทางที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งการลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการฯ ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้มาเห็นสภาพพื้นที่จริงและรับฟังเสียงของประชาชนทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ขณะที่ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล โดย จ.ประจวบฯ มีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 200 กม.
บางพื้นที่ประสบปัญหาคลื่นซัดฝั่งสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่งในพื้นที่ใดที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันของคนในพื้นที่ก็จะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน
ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมาธิการฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้กลับไปหารือเพื่อให้การพิจารณาสรรจัดสรรงบประมาณของรัฐเกิดประโยชน์และความคุ้มค่ามากที่สุด
มีรายงานว่า ในระหว่างการลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร มีประชาชนชาว ต.ปากน้ำปราณ จำนวนมากมาร่วมกันสะท้อนความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อชายหาด
จากนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปตรวจสภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบ้านหนองข้าวเหนียว ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด และชายฝั่งบริเวณท่าเทียบเรือคลองวาฬ ต.คลองวาฬ อ.เมืองประจวบฯ
ก่อนที่ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.65) จะเดินทางไปตรวจสภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ ต.ทับสะแก อ.ทับสะแก และ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ