ผู้บัญชาการทหารเรือ มอบโล่เกียรติคุณ และเครื่องหมายสหัทยานาวี พร้อมใบประกาศนียบัตรกำกับเครื่องหมายให้ผู้ให้ความช่วยเหลือ จากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง
วันที่ 27 มีนาคม 2566 จากกรณีเหตุการณ์ เรือหลวงสุโขทัย ได้อับปางในบริเวณกลางอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลต่าง ๆ เข้าค้นหาและช่วยเหลือกำลังพลของกองทัพเรือที่ประสบเหตุ อย่างทุ่มเท และเสียสละ
ทั้งนี้กองทัพเรือ โดยผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มีดำริให้จัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ และเครื่องหมายสหัทยานาวี พร้อมประกาศนียบัตรกำกับเครื่องหมาย เพื่อแสดงความขอบคุณ และยกย่องเชิดชูเกียรติ หน่วยงานและบุคคล ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนในเหตุการณ์ดังกล่าว
พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ จึงได้เป็นประธานในพิธีมอบโล่เกียรติคุณ และเครื่องหมายสหัทยานาวี พร้อมใบประกาศนียบัตรกำกับเครื่องหมาย ให้แก่ผู้ให้การสนับสนุนกองทัพเรือ จากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอัปปาง จำนวน 3 คน ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม
โดยมีบุคคลผู้ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือกำลังพลของกองทัพเรือ ด้วยความทุ่มเท และเสียสละ เข้ารับประกาศเกียรติคุณ และยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายปริญญา วันดี เจ้าหน้าที่นำร่อง บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด นายภีรพัฒน์ ประจวบลาภไพศาล ผู้แทนนายขุนแผน ชื่นประทุม กัปตันเรือประจวบ 4 และ นายวัฒนา จินตนา กัปตันเรือประจวบ 5
ด้านนายปริญญา วันดี เจ้าหน้าที่นำร่อง บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ได้รับการประสานขอรับความช่วยเหลือจากกองทัพเรือว่า เรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุน้ำเข้าเรือและเรือกำลังเอียง
จึงได้สั่งการให้เรือประจวบ 4 และเรือประจวบ 5 นำเรือออกไปให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนั้นคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง คลื่นสูง กว่า 6 เมตร ในขณะที่กำลังลมมีความเร็วประมาณ 42 นอต เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ
อย่างไรก็ตาม เรือทั้ง 2 ลำได้เดินทางไปให้การช่วยเหลือกำลังพลที่ประสบภัยไว้ได้จำนวน 4 นาย โดยเรือทั้งสองลำนับได้ว่าเป็นเรือเอกชนชุดแรกที่เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ ท่ามกลางคลื่นลมแรง
สำหรับเครื่องหมาย “สหัทยานาวี” มีความหมายว่า “กองทัพเรือ ขอบคุณที่ได้รับความร่วมมือ” นั้น กระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติให้กองทัพเรือ มีไว้เพื่อมอบเป็นเกียรติและกิตติมศักดิ์สำหรับบุคคลผู้ให้การสนับสนุนและทำคุณประโยชน์ต่อสาธารณชน และประเทศชาติ ร่วมกับ กองทัพเรือ ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ และเสียสละ ตามที่กองทัพเรือได้เห็นถึงความเหมาะสม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา