เปิดห้องแล็บตรวจโควิด–19 วันแรกที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ หลังได้รับงบสนับสนุน 5 ล้านบาทจาก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ วันแรกมี 14 ตัวอย่างจากทับสะแกและอำเภอเมืองเข้าตรวจเชื้อโควิด รู้ผลใน 4-6 ชั่วโมง หากหมดสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยทางอณูชีวโมเลกุล ยังสามารถรองรับการตรวจโรคติดเชื้ออันตราย อาทิ โรคไข้เลือดออก โรควัณโรค มะเร็งปากมดลูก เชื้อชิคุนกุนยา ไข้ซิกา หรือโรคอุบัติใหม่ได้ในอนาคต
วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ตึกอนุสรณ์ 36 ปี โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ นายคมสัน เจริญอาจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยทางอณูชีวโมเลกุล เพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายทรงเกียรติ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , นายแพทย์ศุภชัย ศุภพฤกษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ , นายแพทย์จุมพล ฟูเจริญ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลด้านบริการปฐมภูมิ ,นายแพทย์อิสระ เบญจมินทร์ นายแพทย์ชำนาญการ สาขาประสาทศัลยศาสตร์ , นายพิสุทธิ์ ทัพพะรังสี หัวหน้ากลุ่มงานเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยาคลินิก ตลอดจนคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน
สำหรับห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยทางอณูชีวโมเลกุล เพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ หรือ ห้องแล็บตรวจเชื้อโควิด-19 นี้ เปิดแล็ปให้บริการวันนี้เป็นวันแรก ด้วยวิธี Real-Time PCR (Polymerase Chain Reaction)/ มาตรฐานการตรวจที่ทั่วโลกยอมรับ ภายหลังได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มอบงบประมาณ จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อให้โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และติดตั้งระบบภายในห้องปฏิบัติการ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดใกล้เคียง สามารถรับทราบผลได้ภายใน 4-6 ชั่วโมง ทำให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานเพราะไม่ต้องส่งตรวจนอกจังหวัด ซึ่งก่อนหน้านี้นำส่งตัวอย่างตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 จังหวัดสมุทรสงคราม ช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายและทราบผลตรวจเชื้ออย่างรวดเร็วเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยให้บุคลากรการแพทย์ปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย
นายทรงเกียรติ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ความสำคัญกับมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญต่อสุขภาพของประชาชน ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่นี้ให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงร่วมสนับสนุนงบประมาณ จำนวนเงิน 5 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เพื่อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และระบบในห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยทางอณูชีวโมเลกุล เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และใกล้เคียงให้ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายแพทย์ศุภชัย ศุภพฤกษ์สกุล ผอ.รพ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า วันนี้เปิดแล็บตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นวันแรก มีตัวอย่างทยอยมาส่งตรวจเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ทั้งนี้ห้องแล็บสามารถรองรับการตรวจสูงสุด 180 ตัวอย่างต่อวัน โดยจะเปิดเป็น 2 รอบ รอบละ 90 คน รอบเช้าในช่วงเวลา 09.00 น. และอีกรอบในช่วงเวลา 17.00 น. สำหรับผู้ที่สงสัยและต้องการตรวจเอง เสียค่าใช้จ่ายเพียง 2,000 บาทต่อราย ซึ่งมีราคาถูกมากหากเทียบกับการตรวจที่อื่น เนื่องจากชุดน้ำยาตรวจและอุปกรณ์อื่นมีราคาแพง ซึ่งทางโรงพยาบาลต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ ส่วนการตรวจนั้นใช้วิธีเก็บตัวอย่างเชื้อที่โพรงจมูกและในลำคอ ด้วยอุปกรณ์เฉพาะที่สามารถป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายขณะเดียวกันก็เลี้ยงเชื้อไว้เพื่อนำมาตรวจหาว่าเป็นเชื้อไวรัสชนิดใด
ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลต้องขอขอบคุณ นายทรงเกียรติ ลิ้มอรุณรักษ์ นายก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้สนับสนุนงบประมาณจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท เพื่อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และระบบในห้องปฏิบัติการ ตรวจวินิจฉัยทางอณูชีวโมเลกุล ตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายพิสุทธิ์ ทัพพะรังสี หัวหน้ากลุ่มงานเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยาคลินิก กล่าวว่า สำหรับวันแรกมี 14 ตัวอย่างจากทับสะแกและอำเภอเมืองเข้าตรวจเชื้อ ซึ่งห้องแล็ปตรวจเชื้อโควิด-19 นี้ ตนจัดเจ้าหน้าที่ประจำแล็ป 2 คน ซึ่งต้องทำงานสอดประสานกัน ซึ่งภายในห้องต้องเป็นห้องปลอดเชื้อมีการคลีนห้องเพื่อทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ หลังรับตัวอย่างมาแล้ว จะนำเข้าสู่ห้องสกัดสารทางพันธุกรรม ซึ่งห้องนี้จะอันตรายจากเชื้อโรค เพราะเชื้อยังเป็นอยู่จะต้องนำมาทำให้อ่อนแรงก่อน เจ้าหน้าที่จะต้องสวมชุดป้องกันเชื้อ หรือชุด PPE ให้รัดกุม จากนั้นย้ายไปห้องเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม เพื่อตรวจวิเคราะห์เชื้อโรค
ทั้งนี้หากหมดสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยทางอณูชีวโมเลกุล ยังสามารถรองรับการตรวจโรคติดเชื้ออันตราย อาทิ โรคไข้เลือดออก โรควัณโรค มะเร็งปากมดลูก เชื้อชิคุนกุนยา ไข้ซิกา หรือโรคอุบัติใหม่ได้ในอนาคต