เป็นข่าว » ชาวบ้านสามร้อยยอด โล่งอก! ศูนย์ดำรงธรรมและการรถไฟฯ ส่งตัวแทนแก้ปัญหา ‘ทางลอดแคบ’ ให้แล้ว

ชาวบ้านสามร้อยยอด โล่งอก! ศูนย์ดำรงธรรมและการรถไฟฯ ส่งตัวแทนแก้ปัญหา ‘ทางลอดแคบ’ ให้แล้ว

6 มิถุนายน 2020
915   0

ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสามร้อยยอด และการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่งตัวแทนแก้ปัญหาทางลอดแคบของโครงการรถไฟรางคู่ ให้ชาวบ้าน ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอดแล้ว โดยเตรียมสำรวจโครงสร้างสะพานรถไฟเพื่อปรับปรุงเป็นทางลอดใหม่ ให้รถขนาดใหญ่ผ่านได้ ส่วนทางลอดเดิมใช้เฉพาะรถขนาดเล็กในหน้าแล้ง และเป็นทางระบายน้ำในหน้าฝน 

วันที่ 6 มิถุนายน 2563 จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวได้นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ม.4 ต.ศาลาลัย  อ.สามร้อยยอด  จ.ประจวบคีรีขันธ์  หลังชาวบ้านพบว่าทางลอดถนนรถไฟรางคู่มีความแคบเกินไป รถที่จะผ่านได้เฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กอย่าง รถกระบะ , รถเก๋ง , รถจักรยานยนต์ และรถพ่วงข้างเท่านั้น ส่วนรถขนสินค้าเกษตรที่บรรทุกสูง หรือรถขนาดใหญ่ทั้งรถบรรทุก รถสิบล้อ รถห้องเย็น ฯลฯ ไม่สามารถผ่านได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ ทำการเกษตรทั้ง สวนปาล์มน้ำมัน นับพันไร่ , ฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวกว่า 50 บ่อ , ฟาร์มจรเข้ ขนาดใหญ่ 2 ฟาร์ม , นาข้าวอีกกว่า 1 พันไร่  ตลอดจน ชาวบ้านที่หาปลาเป็นอาชีพในทุ่งสามร้อยยอดด้วย

ล่าสุด นายพเยา  มีกลิ่น  ปลัดอำเภอสามร้อยยอด ในฐานะตัวแทนศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสามร้อยยอด  โดยมีนายกวี  กฤษณะชัยยะ  พนักงานเทคนิค 8  ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง  ตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย , นายสำเริง  สมประสงค์  ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการบริษัทที่ปรึกษา  , นายนิพันธ์  แสงศรี  วิศวกรบริษัทผู้รับจ้าง และนายเอกรินทร์  มหาวิธิโย  วิศวกรบริษัทผู้รับจ้าง เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน และหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน นอกจากนี้ยังมี นายประเสริฐ  ไทยอุดมทรัพย์  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย , ว่าที่ร้อยตรีดนัย  ปาน้อยนนท์  นายกเทศมนตรีตำบลไร่ใหม่ และในฐานะผู้แทนนายมนตรี ปาน้อยนนท์ สส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต1 ,  พร้อมด้วยชาวบ้านสามร้อยยอดที่ได้รับผลกระทบ ร่วมประชุมหาทางแก้ไขปัญหาทางลอดแคบดังกล่าว

โดยเบื้องต้น ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทผู้รับจ้าง ได้ระบุว่า สำหรับทางลอดดังกล่าว มีขนาดความกว้างยาว 3 คูณ 3 เมตร ในหน้าแล้งใช้ประโยชน์ในการสัญจรของประชาชน ส่วนหน้าฝนใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำได้ ซึ่งการก่อสร้างบริเวณดังกล่าวตัวโครงสร้างเสร็จแล้วเหลือเพียงการปรับแต่งพื้นที่ให้เรียบร้อยเท่านั้น  ซึ่งในส่วนของทางลอดดังกล่าวไม่สามารถยกเลิกการก่อสร้างได้ ต้องดำเนินการตามแบบให้แล้วเสร็จเนื่องจากเป็นไปตามสัญญาจ้าง และมีการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินแล้ว แต่สามารถพูดคุยหารือเพื่อหาทางออกในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ หลังชาวบ้านระบุว่า ทางลอดดังกล่าวคับแคบเกินไป พอดีคันเฉพาะรถยนต์กระบะและรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น ส่วนรถขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านได้นั้น

ทั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาพูดคุยกันอยู่นานเกือบ 2 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปเป็นที่พอใจแก่ชาวบ้านในเบื้องต้น คือการปรับปรุงทางลอดแห่งใหม่ที่อยู่ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งมีขนาดกว้างกว่าให้รถขนาดใหญ่ได้สัญจร ส่วนทางลอดเดิมที่กำลังก่อสร้างนี้ สำหรับรถขนาดเล็กเท่านั้น ส่วนข้อกังวลที่ชาวบ้านระบุว่า ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขังเพราะมีน้ำหลากลงมาจากที่สูง เกรงว่าจะท่วมทางลอด ไม่สามารถระบายน้ำได้ ทางบริษัทฯผู้รับแจ้งว่า จะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ให้ประจำจุด ส่วนจะสูบน้ำได้ทันก่อนน้ำท่วมหรือไม่ต้องรอทดสอบอีกครั้ง

จากนั้นจึงได้เดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบสะพานรถไฟ กม.252 ตรงข้ามวัดตาลเจ็ดยอด จุดที่จะมีปรับปรุงให้เป็นทางลอดใหม่  ซึ่งเดิมเป็นทางลอดที่รถบรรทุกสามารถขับผ่านได้ แต่ปัจจุบันตื้นเขินและมีน้ำไหลผ่าน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทฯผู้รับจ้าง ขอเวลาสำรวจโครงสร้างของทางลอดดังกล่าวก่อนว่า  จะสามารถปรับปรุงให้มีขนาดความลึกได้กี่เมตร จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของทางรถไฟ  รวมทั้งการสำรวจปรับปรุงเส้นทางวิ่งคู่ขนานไปกับทางรถไฟเพื่อไปใช้ทางลอดดังกล่าว ซึ่งเดิมไม่สามารถผ่านได้ รวมทั้งได้ดูจุดยูเทิร์นสามร้อยยอด ซึ่งมีลักษณะเป็นสะพานสูงยูเทิร์นข้ามทางรถไฟรางคู่ ซึ่งรถขนาดใหญ่ สามารถมาใช้จุดดังกล่าวได้ ซึ่งห่างจากทางลอดที่ซอยเทศบาลไร่เก่า 26 ประมาณ 3 กิโลเมตรเศษด้วย

ทางด้าน นายเอกรินทร์  มหาวิธิโย  วิศวกรบริษัทผู้รับจ้าง  เปิดเผยว่า  หลังหารือร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งชุมชน ทางการรถไฟ  ที่ปรึกษา และผู้ดำเนินการก่อสร้าง  ได้ข้อสรุปร่วมกันคือ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จะทำทางเชื่อม คือทำถนนไปเชื่อมกับจุทางลอดสะพานที่สามารถลอดได้ซึ่งห่างจากจุดที่เป็นปัญหากันตอนนี้ประมาณ 1  กิโลเมตร แต่จะต้องขอให้ทางวิศวกรฯ ได้ตรวจสอบก่อนว่าความสูงอยู่ในระยะที่สามารถลอดได้ปลอดภัย ตามที่ชาวบ้านต้องการหรือไม่ โดยจะต้องไม่กระทบกับโครงสร้างของรางรถไฟด้วย ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 1-2 สับดาห์ ทางโครงการจะแจ้งให้ทราบ  ส่วนผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จะต้องทำหนังสือขอใช้สิทธิ์เหนือพื้นดินในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขอทำถนนให้ชาวบ้านสามารถใช้สัญจรไปถึงบริเวณจุดดังกล่าวได้ด้วย

นอกจากนั้นถ้าทางชุมชน มีความต้องการจะขอทำถนนเพิ่มเติมจาก กม.252 เพื่อเชื่อมต่อไปถึงสะพานยกระดับสามร้อยยอด ซึ่งเป็นยูเทิร์นเกือกม้าที่เป็นโครงการกำลังมีการก่อสร้างขึ้น โดยจะห่างไปประมาณ 3 กิโลเมตร  ในส่วนนี้ทางท้องถิ่นหรือชุมชน จะต้องทำหนังสือใช้สิทธิ์เหนือพื้นดินในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน  โดยหลังจากนี้ทีมงานจะลงตรวจสอบพื้นที่ทั้ง 2 จุด ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะได้คำตอบ จากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยจะรายละเอียดให้ทางชุมชนได้ทราบต่อไป