เป็นข่าว » พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ครบ 130 ปี ตามรอยเสด็จประพาส 5 รัชกาล ที่ถ้ำพระยานคร อช.เขาสามร้อยยอด

พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ครบ 130 ปี ตามรอยเสด็จประพาส 5 รัชกาล ที่ถ้ำพระยานคร อช.เขาสามร้อยยอด

20 มิถุนายน 2020
1691   0

ชาวประจวบคีรีขันธ์ น้อมถวายสักการะ พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ครบ 130 ปี ตามรอยเสด็จประพาส 5 รัชกาล ที่ถ้ำพระยานคร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด หลังกรมศิลปากรเผยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยืนยันข้อมูลใหม่ว่า มีพระมหากษัตริย์ 5 พระองค์ เสด็จประพาสถ้ำพระยานคร ได้แก่ รัชกาลที่ 4 ,รัชกาลที่ 5,รัชกาลที่ 6,รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 

วันที่ 20 มิถุนายน 2563  นายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายพิทักษ์ พิศสิริวัฒนสุทธิ์ นายอำเภอสามร้อยยอด , นายพิชัย  วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี  , นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด , นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ,นางสาวแสงจันทร์ แก้วประทุมรัสมี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  

ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มองค์กรและภาคเอกชนในพื้นที่ ประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันประกอบพิธี เนื่องในวันที่ระลึกพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ครบรอบ 130 ปี ณ ถ้ำพระยานคร หมู่ที่ 8 ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด โดยมีการวางพวงมาลาของทุกภาคส่วนและกล่าวอาศิรวาทราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกและแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

นายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า สำหรับถ้ำพระยานครเป็นที่รู้จักและผู้คนนิยมท่องเที่ยวตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งยังมีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี เสด็จประพาสที่ถ้ำนี้หลายพระองค์ เป็นถ้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นับแต่สมัยรัชกาลที่ 1

เดิมมีหลักฐานปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์เพียง 3 พระองค์ที่เสด็จประพาส ต่อมาในปี พ.ศ.2563  ต่อมากรมศิลปากรได้มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยืนยันว่า มีพระมหากษัตริย์ 5 พระองค์ เสด็จประพาสถ้ำพระยานคร ได้แก่ รัชกาลที่ 4 ,รัชกาลที่ 5,รัชกาลที่ 6,รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ.108  ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประพาสเขาสามร้อยยอด ประพาสในถ้ำและทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. 108 ไว้ที่หน้าผาในถ้ำ  ในปีถัดมาเสด็จพระราชดำเนินประพาสแหลมมลายู ร.ศ.109 พระองค์ได้เสด็จประพาสที่ถ้ำอีกและโปรดฯ ให้จารึกศักราชเติม คือ 109 ไว้ใต้บรรทัด 108

จากนั้นทรงโปรดให้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นภายในถ้ำ ปรากฎในจดหมายเหตุคราวเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ.109 (พ.ศ.2433) ว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ร.ศ.109 ได้เสด็จยกช่อฟ้าพลับพลาที่ประทับ จัดทำที่กรุงเทพฯ แล้วบรรทุกเรือหาญหักศัตรู ขนมาก่อสร้างที่ถ้ำนี้ โดยมีพระยาชลยุทธโยธินทร์เป็นนายงานยกขึ้น และพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์”

พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เป็นพระที่นั่งทรงจตุรมุข ออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่ภายในถ้ำพระยานครภายในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดโดยสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นที่ประทับเวลาเสด็จมาทอดพระเนตรอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเป็นพระที่นั่งที่สร้างที่กรุงเทพมหานครแล้วส่งมาประกอบภายหลัง โดยมีพระยาชลยุทธโยธิน เป็นแม่กองในการก่อสร้าง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง

“ทั้งนี้พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2495 ด้วยความสำคัญดังกล่าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จึงอัญเชิญพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นตราประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จนถึงทุกวันนี้”

สำหรับการเดินทางไปถ้ำพระยานครมี 2 เส้นทางหลักด้วยกัน คือ เดินทางข้ามสันเขาจากหาดบางปูมายังหาดแหลมศาลาซึ่งเป็นที่ตั้งของถ้ำพระยานคร และอีกเส้นทางหนึ่ง คือ นั่งเรือโดยสารจากหาดบางปูไปยังหาดแหลมศาลาและเดินเท้าไปยังถ้ำพระยานคร   ระยะทางจาเชิงเขาถึงโถงถ้ำประมาณ 430 เมตร