ชาวประจวบเริ่มโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าเฉลิมพระเกียรติ ผอ.ทสจ.ประจวบคีรีขันธ์ เผย ปลูกป่าเพิ่มปีละ 100 ไร่ ประเดิมปลูกไม้ป่าไม้หายาก 4,000 ต้น โดยปลูก ‘ต้นเกด’ ไม้ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปลูกพร้อม ต้นยางนา ประดู่ พะยูง และ หว้า บนเนื้อที่ 20 ไร่ ในป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี
วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำหุบเฉลา บ้านย่านชื่อ หมู่ที่ 9 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายคมสัน เจริญอาจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการ ‘ปลูกป่าและป้องกันไฟป่า’ โดยมีนายอานนท์ พร้อมเพรียง นายอำเภอกุยบุรี , นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , นางขนิษฐา จันทโชติ หัวหน้าสถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจน ผู้แทนสถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , ศูนย์ป่าไม้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , อุทยานแห่งชาติกุยบุรี , หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ปข.8 , สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอกุยบุรี , กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนักเรียน กว่า 300 คน ร่วมกิจกรรม
นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดประจวบศีรีขันธ์ มีพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการปลูกป่าตามโครงการ ‘ปลูกป่าและป้องกันไฟป่า’ จำนวน 8 อำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 27,227 ไร่ ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งต้องดำเนินโครงการภายใน 28 กรกฎาคม 2563 จำนวน 100 ไร่ ภายใน 28 กรกฎาคม 2564 จำนวน 100 ไร่ ซึ่งในวันนี้ได้ดำเนินการจัดพิธีเปิดโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า จำนวน 20 ไร่ โดยปลูกไม้ป่าและไม้สำคัญจำนวน 4,000 ต้น ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี โดยมีพันธุ์ไม้ได้แก่ ต้นเกด ซึ่งเป็นไม้ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนั้นยังมี ต้นยางนา ประดู่ พะยูง และ หว้า ด้วย
สำหรับ ‘โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า’ จัดขึ้นโดย ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยครอบคลุมถึงป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ป่าพรุ และที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ รวมถึงการฝึกอบรมจิตอาสาเพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิรลงกณ พระวชิรกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ นานัปการเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร
สำหรับโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ดำเนินการปี พศ. 2563 – 2570 โดยกำหนดพื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟู และมีพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่า ภายใต้โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า เพิ่มขึ้น รวมกันจำนวนไม่ต่ำกว่า 2.68 ล้านไร่ ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
โดย ระยะที่ 1 ระยะเร่งด่วน ดำเนินการเสร็จภายใน 28 ก.ค. 2563 จังหวัดเร่งด่วน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช ปลูกป่าไม่ต่ำกว่า 1,010 ไร่ และทำฝายเพิ่มความชุ่มชื้นของระบบนิเวศน์ พื้นที่ละไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง รวมจำนวนไม่ต่ำกว่า 70 แห่ง ส่วนจังหวัดอื่นนอกเหนือจากจังหวัดเร่งด่วน อีกจำนวน 71 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร ดำเนินการปลูกป่าหรือปลูกตันไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ รวมทั้งประเทศ 7,100 ไร่
ส่วนระยะที่ 2 และ 3 ดำเนินการในปี พ.ศ. 2563-2570 โดยปี พ.ศ.2563-2565 ฟื้นฟูป่าในจังหวัดเร่งด่วน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช จำนวนรวมกันปีละไม่ต่ำกว่า 11,000ไร่ รวม 2 ปี ไม่ต่ำกว่า 22,000 ไร่ รวมทั้ง พื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่า ใน 71 จังหวัดที่เหลือ รวมกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ต่อปี รวม 71 จังหวัด 7,100 ไร่ต่อปี รวม 2 ปี จำนวน 14,200 ไร่
สำหรับ ปี พศ.2565-2570 กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่า จำนวนร้อยละ 15-20 ของพื้นที่ต้นน้ำ หรือชั้นคุณภาพน้ำ 1 และ 2 ที่เสื่อมสภาพและมีการใช้ประโยชน์จากราษฎร จำนวน 127 ล้านไร่ ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์และอื่นๆ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชุมชน เฉลี่ยแห่งละ 50 ไร่ จาก 11,327 แห่ง เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลน จำนวน 0.153 ล้านไร่ จากพื้นที่ป่าชายเลน ตามกฎหมาย จำนวน 15 ล้านไร่ ฟื้นฟูฟื้นที่ป่าพรุ จำนวน 20,000ไร่ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าตามกฎหมาย เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ ต่อปี รวม 5 ปี เป็นจังหวัดละ 500 ไร่
กิจกรรมภายใต้โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า เดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนมหามงคล ได้กำหนดไว้ดังนี้ จัดพิธีเปิดโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 24กรกฎาคม พ.ศ.2563 โดยพิธีเปิดโครงการหลัก กำหนดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีดังกล่าว