วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นายพรหมสิงห์ สิงหเสนี เจ้าของบ้านชมทะเลรีสอร์ท เขากะโหลก ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวานนี้ ซึ่งเป็นช่วงน้ำทะเลลง ตนได้กลิ่นเหม็นเน่าลอยตามลมมา จึงพยายามตรวจสอบที่มาของกลิ่นดังกล่าว
กระทั่งเห็นว่า ที่บริเวณชายหาดหน้ารีสอร์ทซึ่งสอร์ท ห่างจากวนอุทยานท้าวโกษา(เขากะโหลก) ประมาณ 300 เมตร มีโลมาไม่ทราบชนิด มาเกยหาดตาย 1 ตัว
จึงได้เดินมาตรวจสอบ ถึงกับตกใจอย่างมาก เพราะซากโลมาที่พบ ถูกแล่เนื้อหายไปเกือบครึ่งตัวแล้ว สภาพซากไม่สดแล้ว มีกลิ่นเน่าและเริ่มเปื่อยยุ่ยบ้างแล้วคาดว่าจะตายมาแล้ว 2-3 วัน จึงช่วยกันนำขึ้นจากน้ำทะเลก่อนประสานเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิสว่างแผ่ไพศาลธรรมสถานปราณบุรี นำซากไปเก็บรักษาเพื่อรอเจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (สทช.3) มาเก็บซากโลมากลับไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
นายพรหมสิงห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าโลมาที่ถูกแล่เนื้อตัวดังกล่าวเป็นโลมาพันธุ์อะไรและเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย มีขนาดความยาวประมาณ 120 เซนติเมตร กว้างประมาณ 28 เซนติเมตร ส่วนหางมีร่องรอยคล้ายการติดอวนหรือเครื่องมีประมงมาก่อน
สภาพถูกของมีคมตัดเฉือนเนื้อส่วนหลังหายไปเกือบครึ่งตัว มองเป็นอวัยวะภายในและกระดูกโลมา เป็นภาพที่น่าสลดใจและตกใจอย่างมาก ตนทำงานด้านกู้ภัยและมีบ้านพักรีสอร์ทติดทะเลเขากะโหลก ทำให้ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือเก็บซากโลมาที่ตายในทะเลเป็นจำนวนมาก บางส่วนตายตามธรรมชาติ บางส่วนถูกใบพัดเรือ ฯลฯ สภาพซากสด หรือเปื่อยยุ่ย มีหมด แต่ไม่เคยเจอ ซากโลมาที่ถูกแล่เนื้อในลักษณะนี้มาก่อน
ตนไม่มั่นใจว่าจะถูกแล่เนื้อไปกินหรือนำไปทำอะไร แต่เชื่อว่าไม่น่าจะใช้ชาวบ้านในพื้นที่ปากน้ำปราณ หรือ เขากะโหลกซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพประมง และทำธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จึงเชื้อว่าน่าจะเป็นซากจากที่อื่น
ทางด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรณีการพบซากโลมาถูกแล่เนื้อที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นี้ ถือเป็นเรื่องน่าสลดใจอย่างมาก ทั้งนี้โลมา จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ว่าด้วยการห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ทั้งนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (สทช.3) ลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นการด่วนแล้ว