คัดข่าวดี » ประจวบคีรีขันธ์ | รองผู้ว่าฯ เร่งแก้ปัญหานมโรงเรียน ลดผลกระทบให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

ประจวบคีรีขันธ์ | รองผู้ว่าฯ เร่งแก้ปัญหานมโรงเรียน ลดผลกระทบให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

14 มกราคม 2021
763   0

รองผู้ว่าฯ เร่งแก้ปัญหานมโรงเรียน ลดผลกระทบให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ล่าสุด มอบ อปท.และโรงเรียน ประสานผู้ปกครองและเด็กนักเรียนรับนมพาสเจอร์ไรซ์  หลังเดินทางมาส่งงานประจำสับดาห์ในช่วงเรียนออนไลน์

วันที่ 13 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหานมโรงเรียนล้น เนื่องการกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้ปิดสถานศึกษาด้วยเหตุจำเป็นพิเศษ ในพื้นที่ 28 จังหวัดควบคุมสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 4-31 มกราคม 2564 โดยให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบการเรียนออนไลน์แทน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ล่าสุด นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เรียกประชุมเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีคณะผู้บริหารและผู้แทนจากสถานศึกษา , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , ชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และภาคตะวันตก , สำนักงาน อ.ส.ค.ภาคใต้ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมที่ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สำหรับปัญหาน้ำนมดิบล้น วันละประมาณ 35-40 ตัน ซึ่งสหกรณ์โคนมต่างเรียกร้องให้ อ.ส.ค.ช่วยเหลือรับผลิตเป็นนม U.H.T.เพื่อยืดอายุนมนั้น ได้รับการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เจรจาร่วมกับทุกฝ่าย จนได้ข้อสรุปให้ อ.ส.ค.ภาคใต้ และ อ.ส.ค.มวกเหล็ก ช่วยเหลือรับน้ำนมดิบไปผลิตแห่งละ 20 ตัน จนถึงวันที่ 15 มกราคมนี้

ซึ่งหมายความว่า หลังจากวันที่ 15 ม.ค.นี้ ทางสำนักงาน อ.ส.ค.จะไม่สามารถรับน้ำนมดิบวันละ 40 ตันไปผลิตเป็นนม U.H.T.ได้ ในขณะที่ความสามารถในการผลิตของสหกรณ์โคนมต่างๆ เกือบทั้งหมดสามารถผลิตนมพาสเจอไรซ์ ซึ่งมีความสดใหม่แต่มีข้อจำกัดคืออายุนมในการเก็บรักษาสั้น เพียงแค่ 10 วันเท่านั้น  

โดยที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการรับนมพาสเจอไรซ์ไปแจกจ่ายให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ติดขัดเรื่องการขนส่ง การเก็บรักษา และการแจกจ่าย

ซึ่งนายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เสนอแนวทางความเป็นไปได้ ในการแจกจ่ายนมโรงเรียนให้กับเด็กนักเรียนหรือผู้ปกครองทุกสับดาห์ ในวันที่เด็กนักเรียนต้องมาส่งใบงานหรือการบ้านสับดาห์ละ 1 ครั้ง ให้รับนมกลับบ้านไปด้วย หรือหากมีปัญหาเรื่องการเก็บรักษาเพราะไม่มีตู้เย็นให้รับเป็นนม U.H.T.แทน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ลงความเห็นร่วมกัน มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาแต่ละโรงเรียนไปกำหนดแนวทางร่วมกัน พร้อมกับสอบถามผู้ปกครองของเด็กแต่ละราย กรณีการมารับนมพาสเจอร์ไรซ์ในแต่ละสัปดาห์ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณจัดซื้อตามโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนเช่นเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุดคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ประชุมถึงมาตรการผ่อนคลายสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เตรียมปลดล็อคให้  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเด็กก่อนวัยเรียน ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 126 แห่งทั่วจังหวัด สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้ข้อกำหนดตามมาตรการด้านสาธารณสุข

ซึ่งจะส่งดีต่อการแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบล้นของเกษตกรไปได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสามารถใช้งบประมาณตามโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน สำหรับจัดซื้อนมพาสเจอไรซ์ นำไปแจกจ่ายให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเด็กก่อนวัยเรียนได้ตามปกติ คาดว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้คลี่คลายได้ระดับหนึ่ง