Cr.พลไชย ภิรมย์ศรี/ประจวบคีรีขันธ์
แม่ค้าโอดครวญทุนจม “คนละครึ่ง-เราชนะ” เงินเข้าระบบช้า แถมเป็นเบี้ยหัวแตก แม้จะส่งผลดีแม่ค้าขายดีขึ้น แต่ต้องเดือดร้อน หาทุนสำรองมาเพิ่ม เพราะหมุนเงินสดไปซื้อวัตถุดิบมาขายไม่ทัน
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 บรรยากาศค้าขายบริเวณสวนสาธารณะ ถนนเลียบชายทะเล หน้าอ่าวประจวบ ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีร้านขายอาหารช่วงเย็นหลายสิบร้าน จากการสำรวจพบว่า ร้านค้าส่วนใหญ่ร่วมรายการคนละครึ่งและเราชนะ ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลให้ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าและลดค่าครองชีพจากสถานการณ์โควิด-19
ปรากฏว่า บรรดาพ่อค้าแม่ขายเกือบทุกร้านต่างส่งเสียงบ่นเหมือนกันว่า โครงการคนละครึ่งและเราชนะของรัฐบาล มีข้อดีคือทำให้มีลูกค้ามาซื้อของมากขึ้น เรียกได้ว่าขายดีขึ้น แต่เกิดปัญหาคือ เงินไม่เข้าบัญชีทันที ทำให้แม่ค้าไม่มีเงินสดในมือ มีแค่ตัวเลขทางบัญชีกว่าที่ตัวเงินจะถูกโอนผ่านธนาคาร
ต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมง หรือในวันรุ่งขึ้นบางที 1-2 วันกว่าจะมีเงินเข้า ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่แม่ค้าต้องใช้เงินสดซื้อของเข้าร้าน ซื้อวัตถุดิบมาขายของ ซึ่งต้องใช้เงินทุกวันแต่ไม่มีเงินเข้าทันที ทำให้เงินขาดมือ จนต้องหยิบยืมคนอื่นหรือกู้เงินนอกระบบเลยทีเดียว
นางธิติวรรณ ไพบูลย์อัตถกิจ อายุ 49 ปี แม่ค้าร้าน สถานีเครปนานา เล่าว่า ที่ร้านของตนร่วมรายงานโครงการของรัฐบาลทั้งคนละครึ่งและเราชนะ ปิดการขายแต่ละวันเวลา 23.00 น. และเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีผ่านธนาคาร ในวันถัดไปเวลา 23.00 น. ซึ่งใช้เวลา 24 ชั่วโมง
ขณะที่แม่ค้าส่วนใหญ่ ต้องซื้อวัตถุดิบเพื่อเตรียมทำของขายทุกวันในช่วงเช้า แต่ไม่มีเงินสด มีแต่ตัวเลขในระบบซึ่งไม่มีเงินเข้าบัญชี ทำให้ต้องหาทุนสำรองออกไปก่อน แถมเข้ามาเป็นเบี้ยหัวแตก แม่ค้าหลายรายใช้เงินหมุนวันต่อวัน ไม่มีเงินเหลือพอจะไปซื้อวัตถุดิบได้ทำให้ต้องเดือดร้อน
ส่วนตัวมีเพื่อนร้านข้างเคียงมาหยิบยืมเงินสด ครั้งละ 200 – 500 บาท เพื่อนำไปซื้อวัตถุดิบมาขาย เมื่อขายได้ตอนเย็นก็นำเงินสดมาคืน แม่ค้าบางเจ้าขายของที่ราคาไม่สูง เช่น ของปิ้งย่าง ของทอด หรือเครื่องดื่ม ที่มีราคาชิ้นละ 10 -20 บาท อาจมีต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบแต่ละวันไม่สูงมากนัก
สำหรับร้านของตน ราคาเครปตั้งแต่ 30 – 120 บาท ขึ้นอยู่กับท๊อปปิ้งหน้าที่ใส่เครป ทำให้มีต้นทุนซื้อวันถุดิบแต่ละวัน 1000 – 2000 บาท เมื่อรายได้น้อยไม่มีทุนสำรอง แม่ค้าหาเช้ากินค่ำ ต้องใช้เงินหมุนทุกวัน ทำให้เดือดร้อนเช่นกัน
จึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการโอนเงินเข้าระบบที่เร็วกว่านี้ หากสามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้เร็วกว่านี้ ทุกเช้าของวันถัดไปได้จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะแม่ค้าสามารถนำเงินไปซื้อวัตถุดิบได้ทันที
ทางด้าน นางพิไลพร ไทยถนอม อายุ 30 ปี แม่ค้าร้านตั๊กปลาเผา กล่าวเสริมด้วยว่า ที่ร้านขายปลานิล ปลากระพงเผา ราคาจำหน่ายตัวละ 160 – 250 ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของปลา ต้องใช้เงินซื้อวัตถุดิบวันละ 4,000 – 5,000 บาท
ยอดขายร้อยละ 80 มาจากการซื้อขายผ่านระบบแอพเป๋าตังค์ ทั้งโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ อยากขอบคุณรัฐบาลที่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชนบรรเทาความเดือดร้อน แม้แม่ค้าขายของได้มากขึ้นแต่เงินสดไม่มีหมุน แต่อยากให้จ่ายเงินเข้าระบบเร็วกว่านี้ เพราะตนต้องแบกค่าใช้จ่ายที่สูงทุกวัน ทำให้ต้องเดือดร้อนเหมือนกัน