คัดข่าวดี » ประจวบคีรีขันธ์ | รองผู้ว่าเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอำเภอบางสะพานน้อย

ประจวบคีรีขันธ์ | รองผู้ว่าเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอำเภอบางสะพานน้อย

4 มีนาคม 2021
611   0

Cr.สมุทร เรืองชา/ประจวบคีรีขันธ์

รองผู้ว่าสั่ง อบจ.ขุดลอกอ่างเก็บน้ำช้างแรก เพิ่มความจุน้ำอีกอย่างน้อย 1 เท่าตัว พร้อมให้ชลประทานจังหวัดตรวจสอบ อ่างเก็บน้ำคลองเตย เกิดการรั่วซึมไม่สามารเก็บน้ำไว้ใช้ได้ หวังแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้ชาวบ้านอำเภอบางสะพานน้อย

วันที่ 3 มีนาคม 2564 นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประชุมหารือกับผู้นำท้องถิ่น, ผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอบางสะพานน้อย

โดยมีข้อมูลว่า ทรัพยากรน้ำในพื้นที่นั้นไม่เพียงพอ สำหรับให้ชาวบ้านได้ใช้ในการทำการเกษตร และอุปโภคบริโภค จึงได้เชิญหน่วยงานชลประทานและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาร่วมประชุมหารือและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำช้างแรก ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย ความจุราว 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำดิบ ที่นำไปใช้ในการผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงให้ประชากรในพื้นที่อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งน้ำหลักในการหล่อเลี้ยงความเป็นอยู่ของประชากรใน 2 อำเภอ แต่ในบางครั้งปริมาณน้ำต้องใช้อย่างจำกัด และไม่สามารถทำการเกษตรได้เนื่องจากมีปริมาณทรัพยากรน้ำที่น้อยไม่เพียงพอ

จากการสำรวจของผู้นำหมู่บ้านและผู้นำในท้องที่แล้ว มีความคิดเห็นตรงกันว่าอยากที่จะพัฒนาแหล่งน้ำให้มีความจุเพิ่มมากขึ้นหรือ มีการสร้างระหว่างเก็บน้ำแห่งใหม่เพื่อ เป็นการรองรับน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค และรองรับในการทำการเกษตรไว้หาเลี้ยงชีพและครอบครัวด้วย ที่ประชุมมีความคิดเห็นไป ในทิศทางเดียวกันว่าสมควรที่จะพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อใช้ประโยชน์ดังกล่าว

ส่วน อ่างเก็บน้ำคลองเตย ปัจจุบันพบปัญหาไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ คาดว่าจะเกิดจากการรั่วซึม ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนไม่มีน้ำใช้ ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงและและหาทางแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน

ทั้งนี้คณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงพื้นที่ จุดที่ 1 สำรวจอ่างเก็บน้ำช้างแรก ทั้งนี้ชลประทานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีข้อคิดเห็นว่า หากดำเนินการขุดลอกอ่าง จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มอีกประมาณ  1.2 เท่าของอ่างเก็บน้ำเดิม

โดยคาดว่าเมื่อทำการขุดลอกเสร็จแล้วจะสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 2 ล้านถึง 2.2 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำเครื่องจักร กำลังคน และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ มาทำการขุดลอกอ่างเก็บน้ำดังกล่าว โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ได้รับนโยบาย พร้อมทั้งจะเร่งเข้ามาดำเนินการให้เร็วที่สุด ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาของรองผู้ว่าราชการจังหวัด

จากนั้นลงพื้นที่สำรวจ จุดที่ 2 อ่างเก็บน้ำคลองเตย หมู่ 1 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย หลังทราบว่าอ่างเก็บน้ำดังกล่าวไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ จึงสำรวจหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าอ่างเก็บน้ำดังกล่าวนั้น ไม่สามารถเก็บน้ำได้ มีสภาพแห้งขอด จากการที่สอบถามผู้นำชุมชน ระบุว่า อ่างเก็บน้ำไม่สามารถเก็บน้ำได้ ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้อ่างเก็บน้ำสามารถกักเก็บน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ได้แต่เพิ่งมาประสบปัญหาได้ประมาณ 3-4 ปีแล้ว

เบื้องต้นคาดว่า เกิดจากปัญหาอ่างเก็บน้ำรั่วซึม เนื่องจากมีการขุดลอกบริเวณชั้นดินเหนียวของอ่างเก็บน้ำ จึงทำให้อ่างเก็บน้ำไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้สำนักงานชลประทาน ระบุว่า อ่างเก็บน้ำไม่ควรมีการขุดลอกบริเวณโดยรอบขอบอ่าง อย่างน้อยต้องห้ามขุดคิดเป็นความยาว 12 เท่าของความสูงอ่างเก็บน้ำ เพราะถ้าหากเกิดการขุดลอกบริเวณโดยรอบแล้วนั้น อาจจะทำให้แนวชั้นดินเหนียวของอ่างเก็บน้ำพังเสียหาย

หรืออาจจะมีความเป็นไปได้ว่า ระบบสะดือของอ่างเก็บน้ำเกิดการเสียหาย ทางนี้จึงได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทาน เร่งนำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่มาสำรวจข้อเท็จจริงของปัญหาดังกล่าว และให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลช้างแรก จัดสรรงบประมาณลงมาซ่อมแซมและแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

อีกทั้งการลงพื้นที่สำรวจในครั้งนี้ เมื่อดูแผนที่แล้ว พบว่ามีแนวร่องน้ำบริเวณโดยรอบของอ่างเก็บน้ำคลองเตยที่มีความเป็นไปได้ ในการสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีก

เมื่อคำนวนจากความกว้างของร่องน้ำ หากสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น จะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 3 แสนลูกบาศก์เมตร จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจ

และให้ทาง อบต.ช้างแรก ทำหนังสือเสนอความต้องการในการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในท้องที่ เป็นการดำเนินการจัดหางบประมาณตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ถ้าหากว่ามีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่ม จะสามารถช่วยให้ชาวบ้านบริเวณโดยรอบ นำน้ำที่ได้นั้นไปทำประโยชน์ทั้งในด้านการอุปโภคบริโภคและด้านการทำการเกษตร เพื่อพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้