เป็นข่าว » หัวหิน | “อนุทิน” รับปากจัดยาต้านไวรัสโควิด “ฟาวิพิราเวียร์” ให้ รพ.หัวหิน สต๊อก 5,000 เม็ด รักษาโควิด-19

หัวหิน | “อนุทิน” รับปากจัดยาต้านไวรัสโควิด “ฟาวิพิราเวียร์” ให้ รพ.หัวหิน สต๊อก 5,000 เม็ด รักษาโควิด-19

22 เมษายน 2021
772   0

“อนุทิน” รับปากจัดยาต้านไวรัสโควิด “ฟาวิพิราเวียร์” ให้ รพ.หัวหิน สต๊อก 5,000 เม็ด เตรียมพร้อมรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมให้กำลังใจผู้ป่วยขอให้รักษาตัวให้หาย มีภูมิต้านทานโรค และยังชื่นชม ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดอย่างเต็มที่ ลั่นรัฐบาลพร้อมสนับสนุนทั้งยาต้านไวรัสและวัคซีนป้องกันโควิด-19

วันที่ 22 เมษายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของโรงพยาบาลหัวหิน ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ และรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 พร้อมให้กำลังใจ แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รับฟังปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไข

โดยมี นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ,นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ประจวบคีรีขันธ์  ,นายแพทย์นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวหิน ทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับ 

พร้อมกันนี้ได้ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม ซึ่งได้ปรับพื้นที่ภายในโรงพยาบาลหัวหิน และโรงเรียนพณิชยการหัวหิน ซึ่งตั้งอยู่ติดกันเป็นโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งยังมีโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล ขณะนี้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีจำนวนผู้ป่วยสะสมโควิด-19 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงในอำเภอหัวหิน จำนวนทั้งสิ้น 897 ราย อยู่ระหว่างรักษา 784 ราย ส่วนใหญ่รักษาตัวในอำเภอหัวหิน จำนวนทั้งสิ้น 636 ราย

ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง 14 ราย สถานภาพการครองเตียงขณะนี้ ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีกกว่า 300 เตียง ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนมโน้มลดลง เหลือวันละไม่เกิน 50 ราย ขณะเดียวตอนนี้มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้วันละ 30-50 ราย 

โรงพยาบาลสนามที่รับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของอำเภอหัวหิน มีความพร้อมในทุกด้าน มีเตียง ห้องน้ำแยกชาย-หญิงเพียงพอ รวมทั้งมีระบบเครื่องปรับอากาศ กล้องวงจรปิดเพื่อติดตามอาการ และพูดคุยกับผู้ป่วยผ่านวีดีโอคอล และระบบแอพพิเคชั่นไลน์ อย่างใกล้ชิด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนเองและคณะผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงมาติดตามให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่อำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นจุดที่รับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลักของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่ามีความพร้อมทั้งสถานที่ และบุคลากรทุกภาคส่วน วันนี้ได้นำหน้ากากอนามัย,ชุดPPE,เจลล้างมือ,ตู้อบฆ่าเชื้อ เวชภัณฑ์ต่างๆมามอบให้ รวมทั้งได้นำยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)  มามอบให้บางส่วน

โอกาสนี้ตนได้พูดคุยกับผู้ป่วย ผ่านระบบวีดีโอคอล โดยได้ให้กำลังใจในการรักษาตัวให้หายโดยเร็ว แม้จะโชคร้ายติดเชื้อ แต่ให้มองว่ายังมีโชคดีบ้างคือหลังรักษาหายผู้ป่วยทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันโรค โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ในการรักษาอย่างเต็มที่ และขอให้มั่นใจการรักษาและทีมแพทย์พยาบาลที่ดูแลรักษาอย่างเต็มที่ อีกทั้งตนยังได้ให้กำลังใจทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ดูแลรักษาคนไข้อย่างเต็มที่

โดยที่โรงพยาบาลหัวหิน ยังมียาต้าน ฟาวิพิราเวียร์ เพียงพอต่อผู้ป่วย แต่ทางทีมแพทย์ พยาบาลได้แจ้งว่า จากจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก และบางครั้งผู้ป่วยต้องได้รับยาปริมาณมากน้อยต่างกันตามน้ำหนักตัว การเตรียมสต๊อกยาให้เพียงพอจึงเป็นเรื่องสำคัญ

รวมทั้งขณะนี้สถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยขณะนี้ยังไม่คงที่ จึงอยากให้มียาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เตรียมพร้อมในสต๊อก ราว 2,000-5,000 เม็ด เพื่อที่จะสามารถกระจายให้ผู้ป่วยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ทันที ซึ่งตนได้รับปากที่จะจัดสรรยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ 5,000 เม็ดให้โรงพยาบาลหัวหินเพื่อให้มีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วย

ทั้งนี้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ จะทยอยนำเข้ามาเรื่อยๆ โดยภายในสัปดาห์นี้ ประมาณวันที่ 26 เมษายน ที่จะถึงนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ จะมาถึงประเทศไทยอีกสองล้านเม็ด จากนั้นจะกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ จากนั้นจะทยอยสั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อให้สต๊อคยาอยู่ในระดับคงที่ที่ 2 ล้านเม็ด

วงจรของการระบาดรอบนี้เริ่มชะลอตัวลงมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง วงรอบการระบาดเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 -3 รวมทั้งมีมาตรการของทาง ศบค. ในการปิดสถานที่เสี่ยง ตัวเลขก็น่าจะลดลง สถานการณ์น่าจะดีขึ้นภายในประมาณ 2 สัปดาห์

ในส่วนของวัคซีนหลัก ที่จะมากระจายได้ทั่วประเทศ จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน แต่วัคซีนที่เข้ามาในช่วงนี้จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน ซึ่งพบว่าที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลหัวหิน  บุคลการทางแพทย์ เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนไปครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถือว่ามีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ทีมสาธารณสุข

ยอมรับว่าวัคซีนที่ได้มาไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะไม่เป็นอันตราย ไม่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต แต่พวกเขายังจะทำงานตรงนี้อยู่เป็นเรื่องที่ต้องให้กำลังใจกัน