เป็นข่าว » หัวหิน | ยังวุ่นไม่เลิก พบคลัสเตอร์ใหม่ “โรงงานแปรรูปไก่สด” ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 35 ราย

หัวหิน | ยังวุ่นไม่เลิก พบคลัสเตอร์ใหม่ “โรงงานแปรรูปไก่สด” ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 35 ราย

5 มิถุนายน 2021
2560   0

หัวหินยังวุ่นไม่เลิก พบคลัสเตอร์ใหม่ “โรงงานแปรรูปไก่สด” ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 35 ราย จากพนักงาน 285 ราย สอบสวนพบผู้ป่วยรายแรกเพิ่งเดินทางมาจาก จ.เพชรบุรี แพร่เชื้อตอนนั่งโต๊ะกินข้าวร่วมกันและขอยืมโทรศัพท์มือถือใช้งาน ด้าน นพ.สสจ.ประจวบฯ สั่ง Sealing โรงงาน 14 วัน สกัดโควิด-19

วันที่ 5 มิถุนายน 2564 นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 35 ราย จากระบบเฝ้าระวังโรคค้นหาเชิงรุก ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,748 ราย รักษาหายแล้ว 1,549 ราย เหลืออยู่ระหว่างการรักษา 195 ราย มีอาการรุนแรง 4 ราย

ทั้งนี้ผู้ป่วยรายใหม่ที่ตรวจพบ 35 ราย นี้ เป็นคลัสเตอร์ใหม่ คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่สด  ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยตรวจพบผู้ป่วยรายแรก เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 พบผู้ป่วย 1 ราย ทำงานในแผนกล้วงเครื่องใน

สำหรับบริษัทสุรชัย โพลทรี่ ฟู้ดส์ จำกัด เป็นโรงงานแปรรูปไก่สด  มีพนักงานทั้งหมด 285 ราย แบ่งเป็น คนไทยรายเดือนซึ่งเป็นพนักงานสำนักงาน 30  ราย และไลน์ผลิตเป็นแรงงานคนไทย รายวัน 32 ราย แรงงานเมียนมา รายวัน 223 ราย   

โดยแบ่งเป็น 3 แผนก คือ แผนกไก่เป็น 65 คน  แผนกล้วงเครื่องใน มี 65 คน และแผนกตัดแต่ง มี 90 คน มี 8 ไลน์การผลิต คือแผนกคลังสินค้า 15 คน แผนก office 30 คน แผนกช่างและอื่น 6 คน

นายแพทย์สุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอหัวหิน จึงค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือบุคคลสัมผัสเสี่ยงสูง 41 คน จากแผนกล้วงเครื่องใน ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 จำวน 35 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยหญิง 15 คน ชาย 20 คน แยกเป็นชาวเมียนมา 29 คน และคนไทย 6 คน นำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหัวหิน

จากนั้น วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ทีมสาธารณสุขอำเภอหัวหิน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงพื้นที่ออกสอบสวนโรค โดยพบว่าที่แผนกล้วงเครื่องใน ซึ่งเป็นแผนกที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ พนักงานมีการสวมหน้ากากอนามัย เอี้ยมพลาสติก ถุงมือที่รัดข้อมือ และรองเท้าบูท ยืนติดกัน  แต่มีโอกาสการแพร่เชื้อระหว่างกัน  และลงสู่เนื้อไก่ น้อยมาก

แผนกตัดแต่ง พนักงานมีการสวมหน้ากากอนามัย เอี้ยมพลาสติก ถุงมือที่รัดข้อมือ และรองเท้าบูท แต่มีโอกาสการแพร่เชื้อระหว่างกัน  และลงสู่เนื้อไก่ น้อยมาก และแผนกคลังสินค้า พนักงานมีการสวมหน้ากากอนามัย เอี้ยมพลาสติก ถุงมือที่รัดข้อมือ และรองเท้าบูท และไม่มีโอกาสการแพร่เชื้อระหว่างกัน หรือลงสู่เนื้อไก่

ทั้งนี้โรงานดังกล่าวดำเนินงานภายใต้ มาตรฐานการแปรรูปเพื่อการส่งออก แต่ผลิตภัณฑ์ไก่สดแปรรูปทั้งหมดส่งขายภายในประเทศ โดยมีตลาดอยู่ที่กรุงเทพฯ

นายแพทย์สุริยะ กล่าวอีกว่า หลังสอบสวนโรคอย่างละเอียด ผู้ป่วยรายแรกยอมรับว่า บ้านพักอยู่ จ.เพชรบุรี และเพิ่งเดินทางมาจาก จ.เพชรบุรี โดยเคยเป็นพนักงานเก่าของโรงงานแปรรูปไก่สด และได้ลาออกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกลับเข้ามาทำงานใหม่

ซึ่งทางเจ้าของบริษัทฯ ได้รับเข้าทำงานเพราะเป็นว่าเป็นพนักงานเก่าเคยทำงานมาก่อน โดยนำผลตรวจหาเชื้อโควิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ซึ่งผลตรวจเป็น NEGATIVE ไม่พบเชื้อ มายืนยันกับทางโรงงาน      เพื่อขอกลับมาทำงานใหม่ โดยที่ไม่ได้มีการกักตัวต่ออีก 14 วัน

ส่วนการแพร่เชื้อนั้น เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีอาการ ทำให้เกิดการแปรเชื้อในช่วงที่มีการรับประทานอาหารร่วมกัน นั่งใกล้กันมีการพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ทำให้ติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ถึง 35 คน และพบว่า มีการขอยืมโทรศัพท์มือถือไปใช้งานโทรหาญาต จึงทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิดในโรงงานดังกล่าว

สำหรับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ประการแรกคือ นำตัวผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อทั้งหมดไปรักษาที่โรงพยาบาลหัวหินทั้งหมด มีมาตรการ Sealing โรงงาน เข้าได้ ออกไม่ได้ เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน นำแรงงานทั้งหมดรวมพนักงานสำนักงาน เข้ากักตัวในบริเวณของโรงงาน 14 วัน แต่ไม่ปิดไลน์การผลิตเพื่อไม่ให้เกิดการกระจายตัวของพนักงานไปยังที่ต่างๆ

ให้คนที่ไม่ป่วยสามารถทำงานต่อได้ แต่ต้องกำชับมาตรการป้องกันเข้มตลอดเวลา จัดที่พักแยกตามแผนกที่ทำงาน เพื่อกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อข้ามแผนก และมีระยะห่าง อย่างน้อย 1 เมตร ทำแผงกันพลาสติกแบ่งบนโต๊ะอาหาร ตามที่กระทรวงสาธารสุขกำหนด

จัดให้มีตัวแทนคอยดูว่า ใครมีไข้ หรืออาการทางเดินหายใจ ให้พาไปตรวจที่โรงพยาบาลหัวหิน เพื่อทำ NPS และตรวจวินิจฉัย พร้อมทั้งหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงวงที่ 1 และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงวงที่ 2 ไว้ก่อน พร้อมจัดแยก อีกทั้งจัดให้มีการจัด รปภ.คุม ห้ามเข้าด้านฝ่ายผลิต ยกเว้นแผนกรับสินค้า

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสรุปจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์การระบาดที่พบจำนวนผู้ป่วยสูงใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม-5 มิถุนายน 2564 นั้น

ประกอบด้วย คลัสเตอร์สถานบันเทิง มีผู้ป่วยสะสม 492 ราย คลัสเตอร์โรงงาน QPP ผู้ป่วยสะสม 290 ราย คลัสเตอร์โรงงาน Dole 119 ราย คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่สด สุรชัย ผู้ป่วยสะสม 35 ราย และคลัสเตอร์แคลอคอมพ์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เดินทางจาก จ.เพชรบุรี กลับเข้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบผู้ป่วยสะสม 7 ราย