เป็นข่าว » “หมอพื้นบ้าน” รักษาโคกระบือติดเชื้อลัมปีสกิน ด้วยสมุนไพร “ใบมะละกอ  พริกไทย  ขมิ้นชัน”

“หมอพื้นบ้าน” รักษาโคกระบือติดเชื้อลัมปีสกิน ด้วยสมุนไพร “ใบมะละกอ  พริกไทย  ขมิ้นชัน”

24 มิถุนายน 2021
1084   0

หมอพื้นบ้านประจวบคีรีขันธ์ ทดลองรักษาโคกระบือติดเชื้อลัมปีสกิน ด้วยสมุนไพรสูตรยาโบราณ ตัวยาสำคัญได้แก่ “ใบมะละกอ  พริกไทย  ขมิ้นชัน” ใช้ทาแผล แต่หากให้วัวกินต้องเพิ่มสมุนไพร ด้านปศุสัตว์จังหวัดเผย เพิ่งได้รับจัดสรรวัคซีน 2,000 โดส มาถึงในสัปดาห์นี้เตรียมฉีดทันที

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 นายสันทัด เดชเกิด หมอพื้นบ้านชื่อดัง ชาว อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาด ลัมปีสกินในโคกระบือ ขณะนี้พบการระบาดเป็นวงกว้างกระจายทุกอำเภอใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และยังไม่มีวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อ ส่วนโคกระบือที่ป่วยก็รักษาตามอาการเท่านั้น  

ล่าสุดตนได้ทดสอบนำสมุนไพรไทยสูตรโบราณ ตัวยาเดียวกับที่ใช้ลดอาหารเหนื่อยหอบในคน ซึ่งตัวยาประกอบด้วย “พริกไทย  ขมิ้นชัน  ใบมะละกอ ใบย่านาง เปลือกมังคุด” รักษาวัวที่ป่วยติดเชื้อลัมปีสกิน  

โดยฟาร์มที่ทดสอบทดสอบนั้น ก่อนหน้านี้วัวติดเชื้อตายไปแล้ว 1 ตัว ขณะนี้กำลังทดลองรักษากับวัวจำนวน 10 ตัว โดยนำตัวยาทั้งหมดมาบดละเอียดใช้ทาที่แผลพบว่ามีอาการดีขึ้นตามลำดับ หากนำยาป้อนให้วัวกินจะช่วยลดอาการหอบของวัวได้ภายใน 10 นาที

จากการทดสอบขณะนี้พบว่า นำตัวยาให้วัวกินจะอาการดีขึ้นเร็วกว่าใช้ทาที่แผลเพียงอย่างเดียว โดยแม่วัวรีดนม เมื่อนำยาใส่ขวดกรอกปาก วันละ 1 ครั้ง  เมื่อแผลปะทุออกมาแล้วพบว่าแผลจะแห้งเร็วกว่าวัวตัวที่ไม่ได้ให้กินยา ภาพรวมสุขภาพวัวแข็งแรงมากกว่าตัวอื่นๆที่รักษาพร้อมกัน  

แต่หากใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา อาจส่งผลเสียยาจะเกิดการตกค้างในวัวนานเกินไป จะทำให้เกษตรกรโคนม ส่งขายน้ำนมดิบไม่ได้  ทั้งนี้หากหาตัวยาได้ไม่ครบทั้งหมด สามารถใช้เพียง “ใบมะละกอ  พริกไทย  ขมิ้นชัน” บดให้ละเอียดหรือตำรวมกันเพื่อใช้ทาแผลโคกระบือที่ติดเชื้อได้ ทั้งนี้ในอนาคตตนยังเตรียมพัฒนาและวิจัยสูตรยาตัวดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อใช้สำหรับการรักษาโควิด-19 ด้วย

ขณะนี้ได้นำสมุนไพรประกอบด้วยเปลือกมังคุด ใบมะละกอ ใบย่านาง พริกไทย และขมิ้นชัน สูตรยาโบราณที่ใช้ลดอาหารหอบหืดในคน โดยนำบดละเอียดใช้รักษาลดอาการอักเสบที่บาดแผลของโคนม โคเนื้อที่ติดเชื้อลัมปีสกิน นอกจากนั้นยังใช้ส่วนผสมของพืชสมุนไพรดังกล่าวคั้นนำให้โคกิน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะในโคเนื้อซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้มีสารตกค้างจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบ จากการใช้ยาสมุนไพรในฟาร์มโคเนื้อโคนมในพื้นที่พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ทางด้าน นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อลัมปีสกินว่า ปัจจุบันพบการระบาดกระจายใน 8 อำเภอแล้ว เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 576 ราย มีสัตว์ป่วยสะสม 1,904 ตัว จำแนกเป็นโคเนื้อ 1,608 ตัว โคนม 295 ตัว และกระบือ 1 ตัว จากการร่วมฝูง 10,501 ตัว ล่าสุดสัตว์ป่วยตายแล้ว 81 ตัว

สำหรับการจัดซื้อวัคซีนของกรมปศุสัตว์ในล็อคแรกนั้น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน และล่าสุดได้มีการนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติม และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับวัคซีน 2,000 โดส เมื่อวัคซีนมาถึงแล้วจะเร่งฉีดให้กับสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรทันทีตามหลักเกณฑ์ที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้

ส่วนมาตรการเยียวยาวและช่วยเหลือเกษตรกรนั้น จากเดิมที่ช่วยเหลือรายละไม่เกิน 2 ตัว ปรับเพิ่มเป็นรายละไม่เกิน 5 ตัว โดยโคอายุน้อยกว่า 6 เดือน ได้ค่าชดเชยตัวละ 6,000 บาท ขอปรับเพิ่มเป็น 13,000 บาท กระบืออายุน้อยกว่า 6 เดือน ได้ค่าชดเชยตัวละ 8,000 บาท ได้ตัวละ 16,000 บาท และจำแนกตามรายอายุสัตว์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมบัญชีกลางเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ

กรมปศุสัตว์ได้ประสานงานกับบริษัทประกันภัย เพื่อเป็นความคุ้มครองโคเนื้อ ช่วยช่วยเหลือเกษตรกรอีกช่องทาง ตัวละ 400 บาทต่อระยะเวลา 6 เดือน หรือ โคนม 810 บาทต่อตัวต่อปี ซึ่งมีเงื่อนไขของกรมธรรม์ในแต่ละบริษัท