โควิดดับ “หนุ่มผู้จัดการบริษัท” ที่ ต.เกาะหลัก ส้มผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ซึ่งเป็น จนท.ในบริษัทเดียวกัน ส่วนคลัสเตอร์โดสไทยแลนท์ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดของจังหวัด ล่าสุดมีผู้ป่วยสะสม 802 ราย ผู้ป่วยเชื่อมโยงกันทั้งหมด 862 ราย
วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เผยสถานการณ์โควิด19 ประจวบคีรีขันธ์ ระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เมษายน – 6 กรกฎาคม 2564 โดยวันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม +33 ราย ติดเชื้อสะสม 2,851 ราย รักษาหายแล้ว 2,316 ราย เหลือผู้ป่วยกำลังรักษา 527 ราย พบมีอาการรุนแรง 23 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 6 ราย พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 8 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 33 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 17 ราย สัญชาติไทย 30 ราย เมียนมา 3 ราย มีอาการ 20 ราย ไม่มีอาการ 13 ราย ติดเชื้อในจังหวัด 14 ราย และติดเชื้อนอกจังหวัดอีก 19 ราย
สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต COVID-19 ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ รายที่ 8 พบว่าเป็นผู้ป่วยรายที่ 2613 ของการระบาดระลอกใหม่ เพศชาย สัญชาติไทย อายุ 40 ปี อาชีพ ผู้จัดการบริษัท ที่อยู่ ต.เกาะหลัก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์
ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัว ภาวะอ้วน BMI 49.6 เบาหวานรักษาไม่ต่อเนื่อง พบประวัติ ส้มผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ซึ่งเป็น จนท.ในบริษัทด้วยกัน โดยมีไทม์ไลน์
25 มิ.ย.64 รู้สึกมีไข้ อ่อนเพลียลุกไม่ขึ้น ไอแห้งๆ
26 มิ.ย.64 ทราบข่าวว่าเพื่อนร่วมงานติดเชื้อ COVID-19
27 มิ.ย.64 ทีม CDCU มาตรวจ COVID-19 ที่สำนักงานบริษัท
28 มิ.ย.64 ผลพบเชื้อ COVID-19 รักษาที่ รพ.ประจวบ เอกชเรย์พบปอดอักเสบ
30 มิ.ย.64 เริ่มยา Favipiravia ไม่หอบเหนื่อย ไอแห้งๆ
2 ก.ค.64 On 02 high flow อาการไม่ดีขึ้น 4 ก.ค.64 ใส่ท่อช่วยหายใจ
5 ก.ค.64 ผู้ป่วยหายใจเหนื่อยมากขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตตก
เกิดภาวะช็อค ทำการช่วยพื้นคืนชีพ (CPR) และเสียชีวิต เวลา 13.15 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีประชาชนจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด ที่มีภูมิลำเนาใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทยอยเดินทางกลับมาพื้นที่โดยเฉพาะผู้ที่มีผลตรวจติดเชื้อโควิด19 เนื่องจากกรุงเทพฯเตียงเต็ม ส่วนบุคคลที่ไม่มีผลตรวจ ทางสำนักงานสาธารณสุขประจวบคีรีขันธ์ขอความร่วมมือแยกตัวเองจากบุคคลในครอบครัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในครอบครัว โดยให้กักตัวเอง 14 วัน แจ้งเจ้าหน้าที่ อสม.หรือกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT เคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม สำหรับ คลัสเตอร์โรงงานผลไม้กระป๋อง บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ที่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ล่าสุดมีผู้ป่วยสะสม 802 ราย ผู้ป่วยเชื่อมโยงกันทั้งหมด 862 ราย โดยทางบริษัทฯมีการประกาศปิดไลน์การผลิตแล้ว พร้อมนำพนักงานทุกคนตรวจหาเชื้อโควิดครั้งแรก และจะตรวจซ้ำรวม 3 ครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ส่วนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อในโรงงานได้นำมารักษาที่โรงพยาบาลหัวหินทั้งหมดแล้ว