ฝ่ายปกครองและสาธารณสุข เข้าตรวจโรงงานเถกิง คลัสเตอร์โควิดใหญ่สามร้อยยอด ป่วยสะสม 371 ราย ล่าสุดพบหยุดไลน์การผลิตแล้ว ยกเว้นเพียงฝ่ายไอที และฝ่ายคลังสินค้า ประมาณ 50 คน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินงานต่อ โดยให้ทั้งหมดพักในโรงงานและปฏิบัติตามมาตรการเคร่งครัด
วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชยพล อินสุภา นายอำเภอสามร้อยยอดมอบหมายให้ นายณธกร เต็มชยกุล ปลัดอาวุโสอำเภอสามร้อยยอด ลงพื้นที่พร้อมด้วย นายธวัชชัย อุดมเกษตรรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสามร้อยยอด , นายสุภาพ ไทยอุดมทรัพย์ กำนันตำบลศาลาลัย , ผู้ใหญ่บ้าน , ผู้ช่วยฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน
เข้าตรวจสอบ บริษัทเถกิงอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง จำกัด หรือ โรงงานเถกิง หมู่ที่ 6 ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยพบว่า ทางโรงงานได้แจ้งขอปิดการดำเนินงานชั่วคราว หยุดการผลิตตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม เป็นต้นมา หลังพบคนงานติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก
ซึ่งพบว่ามีกระแสชาวบ้านในพื้นที่จะมีการรวมกลุ่มกดดัน หลังจากทราบว่าบริษัทยังคงไม่ปิดการผลิตยังให้พนักงานบางส่วนทำงานอยู่ สาเหตุมาจากผลการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่อนุญาตให้ดำเนินการผลิตได้ แต่ให้อยู่ภายใต้มาตรการอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอสามร้อยยอด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตำบลศาลาลัย ได้ร่วมกันตรวจสอบภายในโรงงาน ซึ่งพบว่าทางโรงงานได้หยุดการดำเนินเกือบทุกแผนก ยกเว้นเพียงฝ่ายไอที และฝ่ายคลังสินค้า ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินงานต่อ เพราะจะต้องส่งสินค้าให้กับลูกค้าต่างประเทศ
แต่ทางโรงงานเองมีมาตรการควบคุม ให้พนักงานที่ทำงานทั้งหมดประมาณ 50 คนเท่านั้น โดยให้อยู่แต่ภายในโรงงานเท่านั้นไม่ให้ออกด้านนอก แรงงานดังกล่าวจะต้องพักอาศัยที่หอพักภายในโรงงาน มีอาหารให้ทุกมื้อ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
มีรายงานด้วยว่าสำหรับ บริษัทเถกิงอุตสาหกรรม สับปะรดกระป๋อง จำกัด ปัจจุบันมีพนักงานจำนวน 1,000 คน มีทั้งแรงงานชาวไทย และแรงงานชาวเมียนมา โดยจากการตรวจเชิงรุกตั้งแต่วันที่ 2-11 สิงหาคม 2564 ได้ทำการตรวจไปแล้วจำนวน 840 ราย พบผู้ติดเชื้อจำนวน 340 ราย เป็นคนไทย 40 ราย เมียนมา 300 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 371 ราย
โดยทางโรงงานได้ตั้งโรงพยาบาลสนามจุดแรกบริเวณโรงอาหารของโรงงานและได้นำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว และได้เตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง ภายในพื้นที่ของโรงงานเช่นกัน เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เป็นพนักงานของโรงงานที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายปกครองยังได้ร่วมกับ อบต.ศาลาลัย ดำเนินการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณตลาดนัดวันอาทิตย์ ที่อยู่หน้าโรงงาน เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโควิด-19 ตลอดจนฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไปตามพื้นที่สาธารณะอื่นๆภายในชุมชน ทั้งลานเครื่องออกกำลังกาย ศาลาหมู่บ้าน ฯลฯ
เพื่อทำลายเชื้อสร้างความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน ตลอดจน ให้ฝ่ายปกครอง ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของโรงงาน เพื่อเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้แรงงานเมียนมาออกนอกพื้นที่อีกด้วย