บริษัทรับเหมาฯ ร้องสื่อ หลังจังหวัดประจวบฯ ค้างจ่ายงบค่าก่อสร้างถนนคู่ขนานชายหาด “บ้านทุ่งมะเม่า-บ้านบ่อนอก” ความยาว 3.7 กม. กว่า 22 ล้านบาท เบื้องต้นสำนักงานจังหวัดระบุ ไม่ได้กันงบที่ต้องจ่ายส่วนที่เหลือเอาไว้ เนื่องจากเกิดการผิดพลาดจากการลงระบบของเจ้าหน้าที่ ส่งผลกระทบ ทำให้บริษัทฯ เดือดร้อนและขาดสภาพคล่องอย่างหนัก วอนผู้ว่าฯ เร่งแก้ไขปัญหา
วันที่ 20 สิงหาคม 2564 นายนิวัฒน์ ศิริวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท เอ ซี เอ็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และขาดสภาพคล่อง หลังดำเนินการก่อสร้างถนนคู่ขนานชายหาดแล้วเสร็จ แต่ทางจังหวัดค้างจ่ายงบประมาณก่อสร้าง ส่วนที่เหลืออีกกว่า 22 ล้านบาท
จึงได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนเพื่อขอให้ช่วยติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของจังหวัด ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทฯ ได้ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร้องขอความเป็นธรรมจากปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ทางบริษัทฯได้รับการว่าจ้างจากทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการปรับปรุงถนน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล เส้นทางบ้านทุ่งมะเม่า-บ้านบ่อนอก ต.บ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 3,750 เมตร (รวมสะพาน ค.ส.ล.) ซึ่งเป็นโครงการตามยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 37,540,000 บาท
โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ต่อมาหลังจากทำงานเสร็จนานกว่า 5 เดือน มีคณะกรรมการตรวจรับตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จ่ายเงินค่างวดส่วนที่เหลืออีก กว่า 22 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันถนนดังกล่าวเปิดให้รถยนต์วิ่งสัญจรแล้ว
สำหรับงบประมาณส่วนที่เหลือที่จังหวัดค้างจ่ายค่างวด ตั้งแต่เมษายน 2564 จำนวนกว่า 22 ล้านบาทนั้น กำลังส่งผลให้บริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากต้องนำเงินไปใช้ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง ค่าเครื่องจักร ค่าแรง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเบิกเงินจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบได้
ทั้งนี้เมื่อสอบถามไปที่ ผอ.กลุ่มงานอำนวยการ สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่รับผิดชอบเรื่องการเบิกจ่ายค่างวดและเป็นเจ้าของโครงการได้รับคำตอบว่า สาเหตุที่จ่ายเงินไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้กันงบที่ต้องจ่ายส่วนที่เหลือเอาไว้เนื่องจากเกิดการผิดพลาดจากการลงระบบของเจ้าหน้าที่
โดยแจ้งว่า จะพยายามหาเงินงบประมาณส่วนอื่นมาเบิกจ่ายให้ และจะแจ้งให้บริษัทรับทราบ ซึ่งมองว่า หน่วยงานของรัฐ ไม่ควรทำงานผิดพลาดในดังกล่าว ขณะที่บริษัทรับเหมาทำงานถูกต้องทุกขั้นตอนรวมทั้งการตรวจรับงาน แต่กลับไม่สามารถเบิกเงินค่างวดที่เหลือได้
ต่อมา นายนิวัฒน์ พร้อมผู้สื่อข่าว ได้ติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าหลังจากรับเรื่องแล้ว ได้ส่งให้สำนักงานจังหวัดชี้แจง เบื้องต้นแจ้งว่า ได้เร่งดำเนินการจัดหาเงินงบประมาณส่วนอื่นจ่ายค่างวดที่ค้างชำระให้กับทางบริษัท
แต่เนื่องจากงบประมาณปี 2564 ไม่เข้าหลักเกณฑ์เบิกจ่ายไม่ได้ แต่จะประสานนำงบประมาณในปี 2565 จ่ายทดแทน แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งอาจติดขัดกับหลักระเบียบปฏิบัติ และต้องสอบถามกรมบัญชีกลางเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดในการลงระบบของเจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัด หากสามารถนำเงินงบประมาณส่วนไหนมาจ่ายให้ จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ติดต่อกับ นางกัญญารัตน์ นิลอ่อน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสอบถามแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีผู้ใดรับสายและไม่ติดต่อกลับแต่อย่างใด
มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางวินัยร้ายแรงกับข้าราชการหลายรายในสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ภายหลังเกิดเหตุลูกจ้างหญิงอายุ 29 ปี ของสำนักงานจังหวัดฯ ยักยอกเงินงบประมาณ กว่า 40 ล้านบาท เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ด้วยวิธีการโอนเงินผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเลคทรอนิคส์ หรือ GFMIS แล้วโอนเข้าบัญชีส่วนตัว
ตรวจสอบพบการกระทำความผิดในลักษณะการทำข้อมูลหลักฐานเท็จ จากการปลอมเช็ครวม 150 ครั้ง โดยลูกจ้างหญิงอ้างว่า นำเงินที่ยักยอกไปเล่นการพนันออนไลน์ ทำให้มีผู้รับเหมาหลายรายร้องเรียนเพื่อขอคืนเงินค่าค้ำประกันงานจากงบประมาณที่มีการทุจริตดังกล่าว