เป็นข่าว » ผู้ใหญ่บ้านหญิงแกร่ง รางวัลแหนบทองเมืองประจวบฯ ทำขนมตาล–ห่อหมกทะเล ขายสร้างรายได้ หนุนงานภารกิจ ตั้งด่านตรวจชายแดนไทย – พม่า

ผู้ใหญ่บ้านหญิงแกร่ง รางวัลแหนบทองเมืองประจวบฯ ทำขนมตาล–ห่อหมกทะเล ขายสร้างรายได้ หนุนงานภารกิจ ตั้งด่านตรวจชายแดนไทย – พม่า

17 ตุลาคม 2021
1165   0

น่าชื่นชม ผู้ใหญ่บ้านหญิงแกร่ง รางวัลแหนบทองเมืองประจวบฯ ทำขนมตาล – ห่อหมกทะเล ขายสร้างรายได้ บำรุง ชรบ.ช่วยสนับสนุนงานภารกิจ ตั้งด่านตรวจชายแดนไทย – พม่า ป้องกันบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางลั่นทม งุ่ยไก่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้าน กม.12 ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าของรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมรางวัลแหนบทองคำ ประจำปี 2564 กำลังช่วยกันกับลูกบ้านทำห่อหมกสูตรพิเศษ อย่างขะมักเขม้นเพื่อนำไปขายในหมู่บ้าน สร้างรายได้นำกำไรที่ได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการตั้งด่านตรวจชายแดนไทย – พม่า ป้องกันบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

นางลั่นทม กล่าวว่า ได้ร่วมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข ( อสม.) และชาวบ้านที่ว่างเว้นจากงานประจำ ทั้งทำไร่ ทำสวน มาช่วยกันทำอาหารคาวหวานจำหน่ายภายในหมู่บ้าน หารายได้วันละ 500 – 700 บาท สำหรับนำไปใช้เป็นงบประมาณสนับสนุนการตั้งจุดตรวจบ้านเขาดิน ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนไทย – เมียนมา เพื่อป้องกันบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผ่านเส้นทางหมู่บ้านดังกล่าว

ทั้งนี้ภายหลัง ฝ่ายปกครองมีการปรับลดงบประมาณค่าจัดเลี้ยงอาหาร จากเดิมสนับสนุนงบประมาณให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ จำนวน 10-15 คน มื้อละ 50 บาทต่อวัน ปัจจุบันจัดงบให้เจ้าหน้าที่เหลือเพียง 5 คนต่อหนึ่งจุดตรวจเท่านั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจมี 10 คนตามปกติและสลับหมุนเวียนกันไป  ในการเฝ้าระวังและช่วยติดตามแรงงานเถื่อนหลบหนีเข้าเมือง รวมทั้งร่วมภารกิจลาดตระเวนร่วมกับหน่วยงานอื่นอีกด้วย

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตนจึงหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการทำของขาย ทดแทนงบประมาณที่ถูกปรับลดไป คนที่มาทำหน้าที่ที่จุดตรวจต้องกินอิ่ม ไม่อด และยืนยันว่าการตั้งด่านไม่เดือดร้อนเรื่องค่าอาหารที่ปรับลดลง แต่ทุกฝ่ายมีข้อตกลงว่าจะนำค่าอาหาร ที่ได้รับจัดสรรจากทางราชการในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด 19 ที่มีการตั้งด่านต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงทุกวัน

นำไปแบ่งเป็นรายจ่ายเป็นค่าเดินทาง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ( ชรบ.) ที่มาเข้าเวรประจำจุดตรวจ เนื่องจาก ชรบ.ไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทน เหมือนผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วย แต่ทุกคนในหมู่บ้านถือเป็นกำลังหลักมาทำหน้าที่ด้วยจิตอาสาเป็นชุมชนเข้มแข็ง เมื่อมีปรับลดงบประมาณก็จำเป็นต้องพึ่งพาตนเองด้วยการทำอาหารจำหน่ายในหมู่บ้าน ขณะที่ชาวบ้านให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนใหญ่ชอบห่อหมกทะเลและขนมตาล

ทางด้าน นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวด้วยว่า การทำหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทุกตำบลในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ที่ผ่านมาทำผลงานเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนเช่วยเหลือเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ในการดูพื้นที่ห่างจากแนวชายแดน 3 กิโลเมตร ซึ่งต้องมีการจัดสรรงบให้เพียงพอในการทำหน้าที่ หากมีปัญหาจากกฎระเบียบก็ต้องแก้ไขให้เหมาะสม