เป็นข่าว » รมว.เกษตรฯ เปิด Feed Center นำร่องแห่งแรกของประจวบคีรีขันธ์

รมว.เกษตรฯ เปิด Feed Center นำร่องแห่งแรกของประจวบคีรีขันธ์

29 มกราคม 2022
281   0

รมว.เกษตรฯ เปิดศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) นำร่องแห่งแรกของประจวบคีรีขันธ์ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

วันที่ 28 มกราคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) บริเวณโครงการเลี้ยงโคนมในระบบชีวภาพ (วัวหลุม) อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ  และ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายสังวาลย์ โพธิ์มี ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้การต้อนรับ

โดยโครงการศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์แห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณผ่านสำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวมและแปรรูปของสถาบันเกษตรกร (ตาม พ.ร.ก. เงินกู้โควิด พ.ศ.2563)  จำนวน 7,609,500 บาท

และเงินที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ สมทบ  845,000 บาท  รวมงบประมาณทั้งสิ้น 8,454,500 บาท นำมาใช้ดำเนินการก่อสร้างและจัดซื้อครุภัณฑ์พร้อมติดตั้งอุปกรณ์กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ TMR หรืออาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม

โดยมีการก่อสร้างโรงเรือนเก็บและผสมอาหาร TMR ก่อสร้างบ่อหมักอาหารหยาบ ก่อสร้างลานคอนกรีต จัดซื้อรถบรรทุก 6 ล้อ แบบดั๊ม จัดซื้อรถตัดล้อยาง ขนาด 100 แรงม้า จัดซื้อเครื่องผสมอาหาร TMR จัดซื้อเครื่องบรรจุอาหารสุญญากาศแบบ 2 หัว มีกำลังการผลิตอาหาร TMR วันละ 30 ตัน จำหน่ายให้สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่สนใจในราคา กก.ละ 4 บาท

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์ในลักษณะเช่นนี้กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีการเลี้ยงโคนมเพื่อช่วยเกษตรกรในการลดตันทุนการผลิต เพราะการเลี้ยงโคนมมีต้นทุนเรื่องของอาหารสัตว์ถึงร้อยละ 60

ในขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรรายย่อยด้วย เพราะอาหาร TMR ที่ผลิตจากศูนย์แห่งนี้เป็นสูตรที่ผ่านการพัฒนาให้เหมาะสมกับโคนม  อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรพัฒนาการเลี้ยงควบคู่กับการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนมโค เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และหากศูนย์ผลิตอาหารสัตว์แห่งนี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นการนำร่องให้กับสหกรณ์อื่นๆ ต่อไป ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมซึ่งถือเป็นอาชีพพระราชทานของคนไทย

ทั้งนี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคนมมากเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกระจายอยู่ทุกอำเภอ รวม 1,059 ราย จำนวนโคนม 36,915 ตัว ผลิตน้ำนมดิบ 64,112 ตันต่อปี โดยผลิตน้ำนมดิบผ่านระบบสหกรณ์โคนม  มีสหกรณ์โคนม จำนวน 6 แห่ง วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 1 แห่ง และกลุ่มผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 1 แห่ง