อาชญากรรม » ‘บิ๊กโจ๊ก’ นำทัพ ศพดส.ตร. ร่วม ปปง.ลุยค้นยึดทรัพย์ผู้ต้องหาอาญาฟอกเงิน กว่า100 ล้านบาท

‘บิ๊กโจ๊ก’ นำทัพ ศพดส.ตร. ร่วม ปปง.ลุยค้นยึดทรัพย์ผู้ต้องหาอาญาฟอกเงิน กว่า100 ล้านบาท

7 มีนาคม 2022
591   0

‘บิ๊กโจ๊ก’ นำทัพ ศพดส.ตร. ร่วม ปปง.ลุยค้นยึดทรัพย์ผู้ต้องหาอาญาฟอกเงิน จากฐานความผิดคดีค้ามนุษย์ ในพื้นที่ 4 จังหวัด 60 เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ภูเก็ต และจังหวัดปัตตานี ยึดทรัพย์กว่า 100 ล้านบาท พร้อมบัญชีเงินฝากอีก 25 บัญชี พบเงินหมุนเวียนในกว่า 980 ล้านบาท ระบุ เส้นทางการเงินพยายามไม่ใช้เงินสด แต่ใช่ทองคำแทน หลังตรวจพบพอร์ตทองคำ 3 พอร์ต สั่งเร่งค้นหาเซฟซ้อนทองคำ หลังตรวจพบมีการซื้อทองคำอีกกว่า 1 พันกิโลกรัม

วันที่ 7 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งรัดปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบและใช้มาตรการยึดทรัพย์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเพื่อตัดความสามารถในการกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยมี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร / ผอ.ศพดส.ตร. , พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร. ดำเนินการ

โดยประสานความร่วมมือกับ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขา ปปง. , พ.ต.ท.ธีรพงษ์ ดุลยวิจารณ์ ผอ.คด.4 ปปง. , นางชลธิชา ดาวเรือง ผอ.คด.3 ปปง. , เจ้าหน้าที่ ปปง.และชุดปฏิบัติการ ศพดส.ตร. ร่วมกันวางแผนตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์และฐานความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีอาญาฟอกเงิน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร. กล่าวว่า จากพฤติการณ์ ในคดีกล่าวคือ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภ.8 ได้จับกุมขบวนการขนแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ในพื้นที่ สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และในวันที่ 6 กันยายน 2564 ยังสามารถจับกุมขบวนการขนแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ สภ.มาบอำมฤต จ.ชุมพร และ สภ.เขานิพันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี และได้ดำเนินคดีในความผิดฐานมนุษย์ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง

ขบวนการดังกล่าวนั้นมีการขนส่งแรงงานชาวเมียนมา จากฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปส่งประเทศปลายทางที่มาเลเซีย และต่อมาศาลจังหวัดทุ่งสง ได้มีคำพิพากษาจำเลยที่ถูกจับกุม สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ในความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยศาลพิพากษาจำคุกผู้ต้องหา 6 ปี จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ต้องหา พบว่ามีความเชื่อมโยง กับขบวนการค้ามนุษย์ และเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลทั้งภายในและภายนอก

ประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ ปปง. ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีในความผิดอาญาฟอกเงินอันเป็นมูลฐานความผิด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กับพนักงานสอบสวน สภ.บ้านมาบอำมฤต จ.ชุมพร ตามคดีอาญาที่ 36/2556 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ ศพดส.ตร. ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ปปง. พบเส้นทางการเงินที่เข้าข่ายคดีอาญาฟอกเงินของกลุ่มเครือข่ายผู้ต้องหา และรวบรวมหลักฐานขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 9 คน หมายจับศาลจังหวัดชุมพร จำนวน 1 คน ในความผิดอาญาฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน และขอหมายค้นศาลอาญาเข้าค้นเพื่อจับและยึดอายัดทรัพย์ผู้ต้องหา ในพื้นที่ 4 จังหวัด 60 เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ภูเก็ต และจังหวัดปัตตานี

โดยผลการตรวจค้น สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาจำนวน 5 คน , ผู้ต้องหา 3 คน สัญชาติเมียนมาร์ หลบหนีอยู่นอกราชอาณาจักร ประสาน ตท.ขอออกหมาย red notice ไว้แล้วดำเนินการอายัดบัญชีธนาคารของกลุ่มผู้ต้องหาทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ จำนวน 25 บัญชี พบเงินหมุนเวียนในบัญชีดังกล่าวรวมกว่า 980 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังได้อายัด ยึด บ้านพร้อมที่ดิน จำนวน 6 หลัง รถยนต์ 6 คัน รถจักรยานยนต์ 5 คัน อายัดเรือผู้ต้องหาและหุ้นส่วนเพื่อตรวจสอบจำนวน 12 ลำ รถยนต์บรรทุกแช่แข็ง 1 คัน สะพานปลา 1 แห่ง ทองรูปประพรรณ 37 บาท สมุดบัญชี 31 เล่ม และทรัพย์สินอื่นๆ ในพื้นที่ 4 จังหวัด 60 เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ภูเก็ต และจังหวัดปัตตานี รวมมูลค่ารวมประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งผู้ต้องหาและทรัพย์สินที่ตรวจยึดอายัด จะดำเนินการส่งมอบให้ สภ.มาบอำมฤต จว.ชุมพร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปฎิบัติการในวันนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จากที่ได้ประชุมวางแผนร่วมกันมาเป็นเดือน ซึ่งจากการสืบสวนของ ปปง.โดย พ.ต.ท.ธีรพงษ์ ดุลยวิจารณ์ ผอ.คด.4 ปปง.และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจอายัดทรัพย์ต่างๆ ในเรื่องคดีความผิดการค้ามนุษย์ มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องทางเพศ แรงงานข้ามชาติ

สำหรับในครั้งนี้เป็นการขนแรงงานข้ามชาติ เอาไปบังคับเป็นทาส เอาไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง เป็นการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เป็นเหตุที่เกิดขึ้นในท้องที่ จ.สุราษฎร์ธานี จากการขนคนข้ามจากแนวชายแดนพม่า ผ่านแม่สอด อาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่าน

ซึ่งประเทศไทยมี 3 สถานะคือ เป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่าน จากการจับกุมตัวและศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุกผู้ต้องหาไปแล้ว ซึ่งทางท่าน ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ขยายผล โดยได้ออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติม ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการยึดอายัดทรัพย์ ในคดีอาญาฐานฟอกเงิน เพื่อไม่ให้ขบวนการค้ามนุษย์มีกำลัง กลับมาทำผิดซ้ำอีก

จากการลงพื้นที่ในวันนี้ ได้ลงพื้นที่พร้อมกัน 4 จังหวัด คือจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ภูเก็ต และจังหวัดปัตตานี ยึดทรัพย์ทั้งหมด ประมาณ 117 ล้านบาท ยึดบัญชีธนาคารทั้งหมด 25 บัญชี ตรวจสอบแล้วมีเงินหมุนเวียนเกือบ 1 พันล้านบาท คือ 980 ล้านบาท โดยมีเงินในช่วงเช้า 6 ล้านกว่าบาท แต่มีพอร์ตทองคำอยู่ 3 พอร์ต

ช่วงเช้ามีการโอนเงินจากการนำทองไปขายในช่วงที่ทองคำราคาแพงและมีเงินโอนเข้ามา จำนวน 17 ล้านบาท ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ต้องหาในคดีฟอกเงิน เส้นทางการเงินจะใช้รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปพยายามไม่ใช้เงินสด แต่เปลี่ยนเป็นทองคำแทน ในวันนี้เจ้าหน้าที่จะขยายผลต่อว่า เซฟที่เก็บทองคำไว้อยู่ที่ไหน เพราะมีการตรวจพบว่ามีการซื้อทองคำอีกประมาณ 1,000 กว่ากิโลกรัม มูลค่าเป็นพันล้านบาท

ซึ่งการทำงานจะยังไม่หยุดแค่นี้เจ้าหน้าที่จะไล่เลียงเส้นทางการเงินเพิ่มเติม และจะขยายวงออกไปอีก ซึ่งจะได้มีการรายงานการยึดอายัดทั้งหมดให้ท่าน ผบ.ตร.ทราบ และรายงานไปสำนักงานปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้ ป.ป.ง.ใช้อำนาจในการยึดอายัดต่อไป  

ด้าน พ.ต.ท.ธีรพงษ์ ดุลยวิจารณ์ ผู้อำนวยการกองคดี 4 สำนักงาน ปปง.(ผอ.คด.4 ปปง.) กล่าวว่า ในคดีนี้เป็นการดำเนินการขยายผลจากคดีที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจับกุมไว้ก่อนหน้านี้ โดยได้ขยายผลยึดอายัคทรัพย์สินของผู้ต้องหา ก่อนส่งต่อให้ ป.ป.ง.ดำเนินการยึดอายัดตามอำนาจหน้าที่ โดยจะให้ความเป็นทรัพย์กับเจ้าของทรัพย์สินมาชี้แจงทรัพย์ดังกล่าว หากพิจารณาแล้วไม่เกี่ยวข้องจะส่งมอบคืน

สำหรับรูปแบบการกระทำความผิดมีความแตกต่างไปโดยในคดีนี้ นำเงินไปฟอกด้วยการเปิดพอร์ตทองคำ ต้องดูเจ้าของพอร์ต ต้องดีสถานะว่า มีความสามารถในการเปิดพอร์ตและชำระเองได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด กลไลในการทำงานคล้ายกับผู้ต้องหาในคดียาเสพติด ที่มีการโอนเงินให้กับผู้เกี่ยวข้องตลอดเส้นทางที่มีการกระทำความผิดในคดี ทั้งหมดสามารถตรวจสอบความผิดได้