Cr.ฐิติชญา แสงสว่าง/สามร้อยยอด
ปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว “โรคปากและเท้าเปื่อยในโคขุน” ในพื้นที่สามร้อยยอด และ อำเภอบางสะพานน้อย แนะเกษตรกรเฝ้าระวังโรคฯ หลังสภาพอากาศเปลี่ยนช่วงหน้าฝน เบื้องต้นส่งเจ้าหน้าที่เข้าสอบสวนโรค พร้อมออกฉีดวัคซีนและพ่นยาฆ่าเชื้อโรค แนะเกษตรกรเข้มงวดการเข้าออกฟาร์ม ต้องผ่านการฆ่าเชื้อทุกครั้ง
วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสอบสวนโรคและฉีดพ้นยาฆ่าเชื้อ ที่ฟาร์มวัว เลขที่ 25/2 หมู่ที่ 1 บ้านห้วยขวาง ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนายสมยศ ปราณอุดมรัตน์ ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้สั่งการให้ นายชัยสิทธิ์ เกษมสุขไพศาล ปศุสัตว์อำเภอสามร้อยยอด และนายคำมูล ประทุมมา เจ้าหน้าที่ด่านกักสัตว์ประจวบคีรีขันธ์ นำน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าฉีดพ่นคอกวัวของเกษตรกร จำนวน 5 คอก หลังรับแจ้งว่า มีโคขุนป่วยด้วยอาการสัมพันธ์กับโรคปากและเท้าเปื่อย
โดยเบื้องต้นพบว่า ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2565 มีโคขุนของเกษตรกรที่เลี้ยงไว้มีอาการป่วยทั้งหมด 25 ตัว ส่วนใหญ่จะเป็นลูกวัวอายุไม่เกิน 3 เดือนที่ยังไม่ได้ทำวัคซีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าฉีดวัคซีน โดยขณะนี้เริ่มมีอาการดีขึ้น ส่วนที่ ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย พบโคขุนป่วยที่ศูนย์กักกันของทางราชการ อีกจำนวนหนึ่ง ขณะนี้ได้เข้าควบคุมโรคแล้ว
ทั้งนี้ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชั่วคราว ชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่จำพวกโค กระบือ แพะ แกะ ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2565 ถึง วันที่ 3 กันยายน 2565 เป็นเวลา 30 วัน ในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด และ ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย
นายชัยรัตน์ สุดยอด เจ้าของฟาร์มวัว ในตำบลศิลาลอย กล่าวว่า ที่ฟาร์มของตน ตรวจพบโคขุนป่วยเป็นโรคปากเท้าเปื่อย จำนวน 13 ตัว โดยสังเกตเห็นว่า วัวมีอาการซึม น้ำหมูกไหล ไม่ค่อยกินหญ้า โดยได้รีบแจ้งไปที่ปศุสัตว์อำเภอเพื่อให้เข้าสอบสวนโรคก่อนดำเนินการฉีดวัคซีนและ พ่นยาฆ่าเชื้อ ทั้งนี้โคขุนที่ป่วยส่วนใหญ่เป็นลูกวัวเพิ่งเกิด ยังไม่ได้รับวัคซีน ขณะนี้หลังได้รับยาอาการดีขึ้นตามลำดับ
ด้านนายสมยศ ปราณอุดมรัตน์ ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ปศุสัตว์จังหวัดได้มีการตรวจสอบโรคระบาดในช่วงฤดูฝน กระทั่งพบโรคปากเท้าเปื่อย 2 ตำบลคือ หมู่ 1 ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด และหมู่ 5 ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย
สำหรับอำเภอสามร้อยยอด พบว่ามีสัตว์ป่วยแค่ 1 ฝูง เป็นลูกวัวที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 13 ตัว ส่วนที่ไชยราชพบสัตว์ป่วยที่บริเวณศูนย์กักของทางราชการ หลังจากได้รับแจ้ง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ และสอบสวนโรคทันที พร้อมทั้งเข้าควบคุมโรคโดยการฉีดวัคซีน และดำเนินการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
เบื้องต้นได้แนะนำให้เกษตรกร ควบคุมการเข้าออกคอกวัวอย่างละเอียด หมั่นสังเกตอาการของวัว งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่แหล่งที่ไม่ชัดเจน หรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด หลีกเลี่ยงให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอกเลี้ยงโค เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่า ไม่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด
ที่สำคัญทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน และอุปกรณ์ต่างๆ โรคปากและเท้าเปื่อยเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคที่สำคัญในโค กระบือ แพะ แกะ สุกร สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีเมล็ดตุ่มพองหรือแผลบริเวณลิ้น ช่องปาก ริมฝีปาก เต้านม และกีบ ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก
โดยทั่วไปโรคปากและเท้าเปื่อยมักไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ที่โตเต็มวัยตาย แต่สัตว์อาจตายได้จากภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อแบคทีเรียหรือจากปัจจัยอื่นๆ เนื่องจากสัตว์เบื่ออาหารและอ่อนแอ และอาจสร้างความรุนแรงและเป็นสาเหตุการตายในลูกสัตว์ได้เนื่องจากเชื้อไวรัสทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
สำหรับการควบคุมโรค พื้นที่เกิดโรคได้สั่งบันทึกกักสัตว์ตาม ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้าย ซึ่งในการควบคุมภายใน 30 วัน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะฉีดวัคซีน สร้างภูมิบริเวณโดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตร โดยทำการรักษาในจุดที่สัตว์ป่วย ถือว่าควบคุมโรคได้ อย่างไรก็ตาม ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในช่วงนี้ให้สังเกตอาการของวัวหากมีอาการของโรค ให้รีบแจ้งที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ได้ทันที