กู้ภัยสว่างเมธีฯสามร้อยยอด ผนึกกำลัง ปภ.เขต 4 เปิดหลักสูตรพิเศษกู้ภัยทางทะเลและชายฝั่ง หลักสูตร“กู้ภัยปฏิบัติการพิเศษ รุ่นที่ 5 (SSR)” มีครูฝึกจากหน่วยซีล (SEAL) ฝึกเข้ม หวังให้มีความพร้อมก่อนลงพื้นที่ช่วยชีวิตคน อาสาทั่วประเทศแห่สมัครนับร้อย แต่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นแค่ 40 นาย โดยมีอาสาสมัครหญิง หลุดเดียวเข้าร่วมฝึกแค่ 1 นาย
วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย น.อ.เรืองฤทธิ์ แสงแก้ว รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ศร.ชล.),
นายสุชาติ สุกิจปรานีนิจ ประธานผู้ก่อตั้งหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างเมธีธรรมสถานสามร้อยยอด, นายเล็ก แซ่เฮง หัวหน้าหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างเมธีธรรมสถานสามร้อยยอด และนายพิชญ์ แซ่เฮง หัวหน้ากู้ภัยปฏิบัติการพิเศษ (SSR) และศูนย์อาสารัตนโกสินทร์ ร่วมเปิด “โครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครกู้ภัยทางทะเลและชายฝั่ง” หลักสูตร “กู้ภัยปฏิบัติการพิเศษ” SAWANG SPECIAL RESCUE (SSR) รุ่นที่ 5
โดยมีคณะครูฝึกจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ หน่วยซีล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และผู้ผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย จากหน่วยงานและมูลนิธิต่าง ๆ รวม 40 นาย โดยมีผู้ผ่านการทดสอบเป็นหญิงเพียง 1 นาย ตัวแทนจากมูลนิธิสว่างหัวหินธรรมสถาน เข้าร่วมในพิธีเปิดการอบรม
นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ศูนย์ ปภ.เขต4 และทุกศูนย์เขต มีหน้าที่ในการสนับสนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ หรือจังหวัด ในการเตรียมความพร้อม ด้านคน บุคลากรและเครื่องจักร ให้มีความพร้อม 100% สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีจังหวัดไหนใน 4 จังหวัดที่ศูนย์ ปภ.เขต4 รับผิดชอบประสบภัยจนได้รับผลกระทบมากนัก ทั้งสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
โดยอาจมีสถานาการณ์น้ำขังรอการระบายบ้าง ทำให้ขณะนี้ศูนย์ ปภ.เขต 4 ได้สนับสนุนเครื่องจักรไปยังจังหวัดตามพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กำลังเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ตามคำสั่งของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้แก่ สนับสนุนเรือพลาสติก 40ลำ ให้ จ.อยุธยา พร้อมเจ้าหน้าที่ 6 นาย , จ.ชัยนาถ ส่งเครื่องสูบส่งน้ำขนาด 14 นิ้ว สามารถสูบน้ำได้ 28,000 ลิตรต่อนาที จำนวน 3 เครื่อง ,
กรุงเทพฯ ส่งเครื่องสูบน้ำขนาด 14 นิ้ว จำนวน 6 ชุด ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ทางศูนย์เขต 4 ได้ทำ MOU เอาเครื่องจักรไปประจำพื้นที่ อย่าง จ.ราชบุรี มีเครื่องจักรไปประจำแล้ว 18 รายการ รวมถึงเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีเครื่องจักรไปเตรียมความพร้อมเพื่อการใช้งานได้ทันทีอาจเกิดภัย
สำหรับการอบรมหลักสูตร“กู้ภัยปฏิบัติการพิเศษ” ซึ่งเป็นการฝึกการกู้ภัยทางทะเลและชายฝั่งนั้น ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้โดยลำพังหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยงานเดียวนั้นไม่สามารถช่วยเหลือด้านสาธารณภัยได้ทันท่วงที เครือข่ายการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นพลังในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ดี
ทั้งนี้ต้องฝากหน่วยงานหลักหน่วยกู้ภัยสว่างเมธีธรรมสถานสามร้อยยอด ให้เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือ เมื่อฝึกอบรมจนได้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการด้านกู้ภัยทางทะเลแล้ว หากเกิดสาธารณภัยทั้ง 22 จังหวัดที่ติดชายทะเลของประเทศไทย สามารถประสานขอความช่วยเหลือเพื่อจัดส่ง เจ้าหน้าที่ที่ฝึกอบรมหลักสูตร “กู้ภัยปฏิบัติการพิเศษ”แล้ว เข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
ทางด้านนายเล็ก แซ่เฮง หัวหน้าหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างเมธีธรรมสถานสามร้อยยอด กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้เรามีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกเข้มหลักสูตร “กู้ภัยปฏิบัติการพิเศษ” รุ่น 1 ถึง 4 เกือบ 80 นาย ขณะที่รุ่นที่ 5 นี้ มีอาสาทั่วประเทศแห่สมัครนับร้อยนาย แต่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นแค่ 40 นาย โดยมีอาสาสมัครหญิง หลุดเดียวเข้าร่วมฝึกแค่ 1 นาย แต่ยังต้องมีการฝึกเข้มอีก โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ สุดท้ายเมื่อครบหลักสูตรแล้วจะเหลือผู้ผ่านการฝึกจำนวนกี่นายยังต้องติดตาม
หัวใจสำคัญของการฝึกอบรมหลักสูตร “กู้ภัยปฏิบัติการพิเศษ”นี้ อยู่ที่การเสริมศักยภาพให้มีความพร้อมในการกู้ภัยทางทะเล ซึ่งมีความยากและอันตรายมาก ซึ่งส่วนใหญ่กู้ภัยจะช่วยเหลือบนบกเป็นสำคัญ ส่วนในน้ำมักจะเป็นในเขื่อน ในลำคลอง ซึ่งเป็นน้ำจืด ทางทะเลมีน้อยมาก
โดยก่อนหน้านี้มีการขอความช่วยเหลือให้ช่วยงมศพในทะเล ซึ่งระดับน้ำลึกประมาณ 30-40 เมตร เมื่อไปถึงซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มีความพร้อม ไม่เคยฝึกมาก่อน จึงไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ เพราะเมาคลื่นลมทะเล ทำให้ตนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการกู้ภัยทางทะเลที่มีความยากลำบากและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้าช่วยเหลือเป็นสำคัญ
จึงได้เริ่มต้นการฝึกในหลักสูตรกู้ภัยทางทะเลและชายฝั่งขึ้น เพื่อลดความสูญเสีย และช่วยให้การปฏิบัติงานสัมฤทธิ์ผล โดยมีศูนย์ ปภ.เขต 4 ร่วมสนับสนุนการฝึก โดยในอนาคตจะมีการ MOU ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จากนั้นจะเสนอสมาคมเครือสว่างฯ ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศ
สำหรับการฝึกอบรมนั้น เป็นการฝึกอย่างเข้มข้น โดยมีคณะครูฝึกจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ หน่วยซีล มาฝึกให้ 5 วัน 5 คืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถด้านร่างกายให้มีความแข็งแรง มีสภาพจิตใจที่พร้อม และมีความรู้ด้านวิชาการในการช่วยเหลืออย่างปลอดภัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และมีความสามารถในการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนได้