อุทยานวิทยาศาสตร์ฯหว้ากอ เกี่ยวข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 บนที่ดินพระราชทาน 6 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาที่ดินพระราชทานเพื่อสาธิตเกษตรธรรมชาติ บนพื้นฐานการทำเกษตรกฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นางขวัญใจ ปัญญชุณห์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยข้าราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ อวท. และชาวบ้านใกล้เคียงอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ
ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 บนที่ดินพระราชทาน 6 ไร่ (หมู่บ้านหว้าโทน) ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาที่ดินพระราชทานเพื่อสาธิตเกษตรธรรมชาติ บนพื้นฐานการทำเกษตรกฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกพืชยืนต้น พืชผักสวนครัว และยังปลูกข้าวหอมมะลิ
ซึ่งบรรยากาศการลงแขกเกี่ยวข้าวเป็นไปด้วยความสนุกสนาน และร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และชาวบ้าน ประมาณ 30 คน ทำให้การเกี่ยวข้าวใช้เวลาไม่นานก็สามารถเกี่ยวข้าวได้ครบตามจำนวนที่ตั้งไว้
นางขวัญใจ ปัญญชุณห์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า สำหรรับข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 ดังกล่าวปลูกเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการปลูกต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2
โดยครั้งแรกนำข้าวหอมมะลิที่สีเสร็จเรียบร้อยพร้อมหุงรับประทาน ไปแจกให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแจกที่สำนักงานต้นสังกัดส่วนกลาง
ส่วนการเกี่ยวข้าวในรอบนี้ คาดว่าจะได้ข้าวหอมมะลิ ประมาณ 400-500 กิโลกรัม โดยหลังจากนำไปตากแดดให้แห้งและสีข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะแจกจ่ายให้กับประชาชน และหน่วยงานราชการในพื้นที่ตามลำดับ
สำหรับประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีไทยที่งดงามอีกอย่างหนึ่งของชาวนาไทย ซึ่งคนอีสานเรียกว่า ลงแขก เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งการเกื้อกูลกันของสังคมคนในอดีต ที่นับวันจะสูญหายจากสังคมไทย แต่สำหรับคนอีสานแล้ว “ลงแขก” มีความหมายถึงน้ำใจไมตรีที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ช่วยเหลือกันในกิจการงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วนั่นเอง