ผู้ว่าฯ สมคิด ห่วงน้ำท่วมฉับพลันในหัวหิน สั่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ-สูบน้ำ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก 4-6 พ.ย.67
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่พร้อมด้วย นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน นายธนวัฒน์ เรืองเดช หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์ ปภ.เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ บริเวณคลองพระราชดำริ ชุมชนเขาตะเกียบ และสวนสาธารณะ 19 ไร่ อำเภอหัวหิน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่า ฝนตกหนักจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายนนี้
สำหรับมาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง โดยมีการวางแผนการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ให้คลี่คลายเร็วที่สุดหากเกิดอุทกภัยในพื้นที่
นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า มีการพยากรณ์ว่าในช่วงวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายนนี้ อาจมีฝนตกหนักกว่าปกติ หากปริมาณฝนเป็นไปตามที่คาดการณ์ อาจเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหินเป็นเวลานานขึ้น จากสถานการณ์นี้ได้ประสานกับนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ปลัดเทศบาล นายอำเภอหัวหิน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปภ. จังหวัด ปภ. เขต 4 และชลประทาน เพื่อเตรียมมาตรการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเทศบาลเมืองหัวหินได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าแล้ว
หนึ่งในจุดสำคัญคือคลองพระราชดำริ ซึ่งมีความเสี่ยงที่น้ำจะเอ่อท่วมในชุมชน จึงมีการติดตั้งเครื่องมือผลักดันน้ำเพิ่มเติม โดยได้รับการสนับสนุนจากชลประทาน และเสริมด้วยเครื่องสูบน้ำกำลังสูงจาก ปภ. เขต 4 ที่มีกำลังการสูบสูงสุด 28,000 ลิตรต่อนาที เชื่อว่าการบูรณาการร่วมกันนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของน้ำท่วมขังหรือหากมีน้ำท่วมก็จะใช้เวลาในการระบายลงสู่ทะเลได้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งอุปกรณ์ในจุดศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 19 ไร่ เพื่อเสริมการระบายน้ำในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย
“สำหรับภาพรวมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีจุดเสี่ยง 3 จุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ พื้นที่ในเทศบาลเมืองหัวหิน อ.หัวหิน ซึ่งมีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูงที่สุด จุดที่สองคือ อ.บางสะพาน และจุดที่สามคือ อ.ทับสะแก เนื่องจากคาดการณ์ว่าฝนจะตกหนักในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งบางสะพานและทับสะแก นอกจากน้ำอาจจะท่วมในเขตชุมชนแล้ว ยังอาจเกิดน้ำจากภูเขาไหลลงมาทำให้เกิดดินสไลด์หรือความเสียหายอื่น ๆ ได้ ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด” นายสมคิดกล่าว
ขณะเดียวกัน นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ได้สั่งการให้สำนักช่าง , กองช่างสุขาภิบาล และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก จนเกิดน้ำท่วมขังไว้ล่วงหน้า โดยได้ดำเนินการขุดลอกตะกอนดินในท่อระบายน้ำ และจัดเก็บวัชพืชตามลำคลองต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การระบายน้ำในช่วงที่มีฝนตกหนัก สามารถระบายน้ำได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้าน นายธนวัฒน์ เรืองเดช หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยช่วงฤดูฝนปี 2567 โดยเน้นการเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ การแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง การจัดการระบายน้ำ และเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างรวดเร็วหากเกิดภัย
รวมถึงดูแลสถานที่ท่องเที่ยวชายฝั่งและแจ้งเตือนการเดินเรือ กรณีมีคลื่นลมแรง ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดระบบการอพยพประชาชนไปยังจุดปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความห่วงใยปัญหาอุทกภัย จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรและบุคลากรกู้ภัยไว้ล่วงหน้า.