เป็นข่าว » ทีมสัตวแพทย์ สุดยื้อ! ‘น้องวังไทร’ ลูกช้างป่ากุยบุรี ล้มแล้ว

ทีมสัตวแพทย์ สุดยื้อ! ‘น้องวังไทร’ ลูกช้างป่ากุยบุรี ล้มแล้ว

31 พฤษภาคม 2020
719   0

ทีมสัตวแพทย์ สุดยื้อ ‘น้องวังไทร’ ลูกช้างป่ากุยบุรี ได้รับบาดเจ็บจนล้มป่วย พยายามสู้ ทรงตัวยืนได้และกินอาหารได้แค่วันเดียว สุดท้ายวันนี้อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และล้มในที่สุด สร้างความเสียใจให้กับทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ดูแลลูกช้าง มาตลอด 3 วัน

วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า อาการป่วยของ’น้องวังไทร’ ลูกช้างป่ากุยบุรี เพศผู้ วัย 5-6ปี ที่บาดเจ็บจนล้มป่วย มีร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย ไม่มีแรงแม้แต่จะลุกขึ้นยืน ถูกพบภายในสวนโกโก้และขนุนของชาวบ้าน ที่บ้านวังไทร ม.7 ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น

ซึ่งนายรักพงษ์ บุญย่อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รายงานให้ นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้ทราบเพื่อประสานขอทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงมารักษาลูกช้างป่าตัวดังกล่าว

ขณะที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยใช้เครื่องสแกนโลหะตรวจที่ตัวลูกช้างป่า ปรากฎว่าตรวจพบวัตถุโลหะตามตัวของ น้องวังไทร ลูกช้างป่ากุยบุรี รวม 5 แห่ง ทั้งที่ ก้นสองข้าง สะโพก 2 แห่ง และหัวไหล่ ซึ่งคาดว่าแผลจะเกิดการอักเสบ จนเป็นสาเหตุหลักทำให้ลูกช้างป่าล้มป่วยดังกล่าว

ทั้งนี้สัตวแพทย์หญิงกชกร พิมพ์เสน สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่สัตวบาลจากศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย จ.เพชรบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจดูอาการและทำการรักษาลูกช้างป่าทันที โดยได้ให้สารน้ำ ทั้งน้ำเกลือ วิตามิน และยาปฏิชีวนะต่างๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูร่างกายโดยด่วน กระทั่งช่วงค่ำวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้ใช้รอกเชือก ช่วยพยุงตัว ให้ลูกช้างป่า ยืนขึ้นเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน ปรากฎว่าลูกช้างป่าร่วมมือเป็นอย่างดี สามารถยืนและทรงตัวได้ดี และกินอาหารได้มากในวันถัดมา แต่ลูกช้างป่ายังมีภาวะขาดน้ำ กินน้ำได้น้อยกว่าลูกช้างทั่วไป แต่อาการโดยภาพรวมสร้างความดีใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ดูแลลูกช้างป่า และมั่นใจว่าจะสามารถช่วยชีวิต’น้องวังไทร’ได้

ต่อมาช่วงบ่าย ของวันที่ 30พฤษภาคม2563 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่ง สัตวแพทย์หญิง กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมเจ้าหน้าที่สัตวบาล และ เวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นสำหรับลูกช้างป่ามาเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการรักษา

กระทั่งช่วงกลางดึกที่ผ่านมาจนถึงช่วงเช้าวันนี้ (31พฤษภาคม2563) ทีมสัตวแพทย์สังเกตุพบว่าอาการของ’น้องวังไทร’ ลูกช้างป่ากุยบุรี เริ่มปรากฎอาการท้องอืด ไม่สามารถขับถ่ายได้ เริ่มไม่กินอาหาร และขาเริ่มอ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวเองได้

โดยตลอดทั้งวันที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ สัตวแพทย์หญิง กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อมด้วย สัตว์แพทย์หญิงกชพร พิมสิน สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่สัตวบาล ได้เข้าดูอาการลูกช้างป่าตลอดเวลาเพราะลูกช้างป่าอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้มอบหมายให้ นายไพโรจน์ นาครักษา ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ และ นายจำลอง จงศรี ผอ.ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ติดตามอาการของลูกช้างป่ากุยบุรีที่ได้รับบาดเจ็บ โดยมี นายรักพงษ์ บุญย่อย หน.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ลงพื้นที่เกิดเหตุด้วย

สำหรับอาการในวันนี้ทางทีมสัตวแพทย์ที่เฝ้าดูแลรักษาช้างแจ้งว่า ช้างมีอาการท้องอืด ไม่มีแรง ไม่กินอาหารและน้ำ เจ้าหน้าที่ได้ผ่อนรอกเชือกที่พยุงตัวลูกช้างป่าไว้ ให้คลายลงมานอนราบอยู่กับพื้น เพราะลูกช้างป่าไม่สามารถทรงตัวเองได้ จึงให้ช้างนอน แล้วดำเนินการรักษาอาการท้องอืดโดยฉีดยาลดกรด และช่วยกันนวดด้วยน้ำมันมวย บริเวณท้องของช้างเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ล้วงทวารช้างเพื่อนำมูลออกมาพบว่ามีพยาธิจำนวนมาก ล้วงทางปากเพื่อนำเศษอาหารที่ค้างอยู่ออกมาเพื่อช่วยการหายใจให้ดีขึ้น พร้อมให้น้ำเกลือโดยตลอด แต่เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ทำให้อากาศเย็นทีมสัตวแพทย์เป็นห่วงเรื่องปอดบวมจึงได้ก่อเตาถ่าน 2 เตาไว้ใกล้ช้างเพื่อเพิ่มความอบอุ่น ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ทิ้งลูกช้างป่าไปไหน

จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.30 น. ‘น้องวังไทร’ลูกช้างป่ากุยบุรี ที่พยายามสู้ไปพร้อมกับทีมสัตวแพทย์ที่เฝ้าดูแลรักษา ก็ล้มลงและจากไปอย่างสงบ ท่ามกลางความเสียใจของทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และชาวบ้านในพื้นที่ที่ช่วยกันเฝ้ารักษาดูแล ‘น้องวังไทร’ มาตลอด 3 วัน

ทั้งนี้นายรักพงษ์ บุญย่อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รายงานข้อมูลกรณีลูกช้างป่ากุยบุรีล้มดังกล่าว ให้นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้ทราบตลอดเวลา หลังทีมสัตวแพทย์ ได้ประเมินอาการบาดเจ็บของ’น้องวังไทร’ ที่ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จากการอักเสบและติดเชื้อภายในอย่างรุนแรง และไม่อาจยื้อชีวิต’น้องวังไทร’ไว้ได้

ต่อมาเมื่อเวลา 18.30 น. พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุขแสวง ผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก ผกก.สภ.สามร้อยยอด แล้วว่า ลูกช้างป่ากุยบุรีล้มแล้ว จึงสั่งการให้พนักงานสอบสวน สภ.สามร้อยยอด ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างละเอียด และติดตามการผ่าซากลูกช้างป่าเพื่อดูวัตถุโลหะที่ฝังอยู่ในตัวลูกช้างป่าทั้ง 5 แห่ง ที่ทีมตำรวจพิสูจน์หลักฐนสแกนพบโลหะ เบื้องต้นพบว่า โลหะในตัวลูกช้างป่าที่ผ่าได้ เป็นกระสุนลูกปราย แต่ยังไม่ทราบจำนวนและขนาด เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการของทางทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สามร้อยยอด

ทั้งนี้มีรายงานว่า   พ.ต.ท.กมลาสน์ อรุณภาคมงคล รอง ผกก.สส.สภ.สามร้อยยอด พร้อมด้วย ร.ต.อ.นิวัต ศรีขาว สว.สส.สภ.สามร้อยยอด และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่ทราบเหตุลูกช้างป่าบาดเจ็บ โดยได้วางแผนสืบสวนค้นหาฉนวนเหตุที่ทำให้ลูกช้างป่าได้รับบาดเจ็บ  โดยก่อนหน้านี้ชุดสอบสวน สภ.สามร้อยยอด ได้สอบปากคำชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานฯไปแล้ว 5-6 ปาก เพื่อหาข้อมูลเชื่อมโยงกัน หาพิกัดที่ลูกช้างป่ามักจะออกมาหากิน หรือหลับนอน ว่าอยู่พิกัดใดในพื้นที่ ม.7 ต.ไร่ใหม่ หรือพิกัดใกล้เคียงซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

นอกจากนั้นในสับดาห์หน้าเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจะขอข้อมูลการมีไว้ซึ่งอาวุธปืนทุกชนิดทุกขนาดของทุกคนในพื้นที่ ม.7 ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อมาตรวจสอบหาตัวบุคคลที่ทำร้ายลูกช้างป่าจนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

สำหรับซากของ‘น้องวังไทร’ ทีมสัตวแพทย์ จะช่วยกันผ่าซากเพื่อเก็บชิ้นส่วนอวัยวะ ที่สำคัญในตัวลูกช้างป่า ทั้งตับ ม้าม หัวใจ หลอดลม กระเพาะอาหาร อาหารในกระเพาะ และชื้นเนื้อต่างๆส่งตรวจสอบยังห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโรคในตัวลูกช้างป่า จากนั้นได้ขุดหลุมกลบฝังโรยปูนขาวทับ เพื่อป้องกันเชื้อโรคตามหลักวิชาการทันที.