มทร.รัตน์โกสินทร์ โชว์งานวิจัยแปรรูปมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เน้นเพิ่มมูลค่า ทั้ง “เครื่องสำอาง-ขนม” 6 ผลิตภัณฑ์ หวังช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ชาวบ้านสามารถนำไปเป็นตัวอย่างได้จริง
วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารสัมมนาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการขยายห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของการยกระดับผลิตภัณฑ์จากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการใช้ประโยชน์จากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงสำหรับวิสาหกิจชุมชนในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์” โดยมี ผศ.นภาพร นาคทิม รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตวังไกลกังวล พร้อมด้วยนางสุวรรณี ศิริวรรณ์หอม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจน ผู้แทนจากสำนักงานเกษตรจังหวัด นักศึกษา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมกิจกรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นภาพร นาคทิม รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตวังไกลกังวล กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤตเชื้อไวรัสไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ที่เกิดขึ้นในปี 2563 การส่งออกผลิตผลทางการเกษตรต้องหยุดชะงักลง ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดได้รับผลกระทบจากการส่งออก รวมทั้งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพืชเศรษฐกิจของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักจึงได้รับผลกระทบ
ทำให้เกิดปัญหามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองล้นตลาด และราคาภายในประเทศตกต่ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มีแนวคิดที่บริหารจัดการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ปลูก ผู้แปรรูป และผู้จำหน่าย มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดเครือข่ายที่เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการใช้ประโยชน์จากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงสำหรับวิสาหกิจชุมชนในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่เกิดปัญหาราคาตกต่ำ ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
ถือเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งการยกระดับมาตรฐานมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง การแปรรูป และการเพิ่มทักษะของวิสาหกิจชุมชน เตรียมพร้อมในการเผชิญการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร นวลใย อาจารย์ประจำสาขาวิชาศึกษาทั่วไป คณะศิลปศาสตร์ พื้นที่วิทยาเขตวังไกลกังวล ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยฯ กล่าวว่า สำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปัญหาในเรื่องโครงสร้างราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคาตกต่ำ
ขณะเดียวกันมะม่วงเป็นผลไม้ที่เก็บรักษาได้ยาก เน่าเสียได้ง่าย ประกอบกับการกินมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของคนไทยยังคงรูปแบบเดิมคือการกินกับข้าวเหนียวมะม่วง ต้องยอบรับว่าไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพ ดังนั้นคนอาจจะไม่นิยมเท่าไหร่นัก ขณะที่มาตรฐานการส่งออกยังไม่สามารถส่งออกได้ทั้งหมด จึงได้มีการศึกษาข้อมูลถึงความเป็นไปได้ที่จะน้ำมะม่วงตกเกรดมาแปรรูปให้มีราคาที่สูงขึ้น ชนะกลไกตลาดได้
สำหรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาเบื้องต้น 6 ผลิตภัณฑ์ ให้กับ 5 วิสาหกิจชุมชน โดยผลิตภัณฑ์แรก คือเครื่องสำอาง บอดี้โลชั่น ที่ผสมน้ำผึ้งชันโรง และสารสกัดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง นอกจากนั้นยังมี บอดี้โลชั่น ผสมน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นและสารสกัดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ผลิตภัณฑ์ที่ 3 เป็นแอนด์ครีมผสมวานหางจรเข้และสารสกัดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
ผลิตภัณฑ์ที่ 4 เป็นครีมทาหน้า ผสมน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นและสารสกัดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ 5 และ 6 เป็นขนม ประกอบด้วย ทาร์ตสับปะรดที่มีการเพิ่มเนื้อมะม่วงลงไป ซึ่งทาร์ตสับปะรดเป็นสินค้าขึ้นชื่อของประจวบคีรีขันธ์ เมื่อผสมเนื้อมะม่วงลงไปพบว่ารสชาติละมุนมากขึ้น เชื่อว่าจะกลายเป็นสินค้าของฝากที่ได้รับความนิยมในอนาคตได้ ส่วนผลิตภัณฑ์สุดท้ายเป็น พุดดิ้งผสมเนื้อมะม่วงเสิร์ฟกับไอศครีมหรือวิปปิ้งครีม ช่วยเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากขึ้น สามารถจำได้ตามร้านกาแฟ คาเฟ่ต่าง ๆ เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า
“การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการใช้ประโยชน์จากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงสำหรับวิสาหกิจชุมชนในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์” จากผลการดำเนินการวิจัย ในส่วนต้นน้ำได้วิเคราะห์คุณภาพของดินและมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองระหว่างอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีความแตกต่างระหว่างสภาพดินที่ปลูกและคุณภาพของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
นอกจากนี้ยังสามารถสร้างการรับรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ในส่วนกลางน้ำสามารถพัฒนาวิธีการสกัดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อใช้ผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมสารสกัดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง 4 ชนิด และผลิตภัณฑ์ขนม 2 ชนิด สำหรับส่วนปลายน้ำได้ทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคในการบริโภคมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทั้งรูปแบบผลสดและแปรรูป
สำหรับกลไกการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าอาศัยการสร้างผู้ประกอบการให้มีทักษะและความรู้โดยอาศัยหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สำหรับโครงการนี้เป็นการนำองค์ความรู้จากชุดโครงการวิจัยมาเผยแผ่เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้สูงสุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร กล่าว