กลุ่มผู้เลี้ยงวัวเมืองประจวบ จัดงานโชว์ “โค-กระบือ” พัฒนาสายพันธุ์นอกเพิ่มมูลค่า ตัวแพงสุดวัวนำเข้าจากเนเธอแลนด์ ตัวละ 3 ล้าน ด้านปศุสัตว์ส่งเสริมเกษตกรเลี้ยงโคในพื้นที่เกษตรกรรมได้แบบเกื้อกูลกัน
วันที่ 6 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีรศักดิ์ นาคใหญ่ ปศุสัตว์อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายสมหมาย แดงโชติ สมาชิก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ นายประสิทธิ์ นิลประเสริฐ เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ นายพิทยา จันทร์แก้ว กลุ่มผู้เลี้ยงโคพันธุ์ฮินดูบราห์มัน และเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโคกระบือ
ร่วมกันจัดงานแสดงสายพันธุ์โค – กระบือ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคพันธุ์ผสมที่มีคุณภาพและได้ราคาจากโคพันธุ์พื้นเมือง โดยจัดงานที่ฟาร์มหมอสิทธิ์บีบีแรนซ์ 209/2 บ้านหนองเสือ ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายประสิทธิ์ นิลประเสริฐ เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโค-กระบือ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ผู้จัดงาน กล่าวว่า การจัดงานโชว์สายพันธุ์โคจัดขึ้นปีละครั้ง เพื่อให้เกษตรกรได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงโค พัฒนาสายพันธุ์ให้ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากแม่พันธุ์โคหลักๆแล้วเป็นสายพันธุ์ยุโรป อเมริกา เช่น พันธุ์บราห์มัน ชาร์โรเล่ส์ ฮินดูบราซิล และโคพันธุ์พื้นเมืองหรือวัวไทย
เป็นการต่อยอดให้เกษตรกรขยายการเพาะเลี้ยงให้ได้โคที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด การจัดงานสองวันมีเกษตรกรนำโคมาแสดงกว่า 300 ตัว จากทั่วสารทิศ โดยเฉพาะภูมิภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคมากที่สุดในประเทศ มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายโครวม 3 ล้านบาท
นายพิทยา จันทร์แก้ว เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโคพันธุ์ฮินดูบราห์มัน กล่าวว่า จุดเด่นของโคที่นำมาแสดงในงานนี้คือ แม่พันธุ์ชาโรเรส์ที่ชนะเลิศการประกวดที่ประเทศเนเธอแลนด์ น้ำหนัก 1.4 ตัน ราคา 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นวัวที่มีราคาสูงสุดที่นำมาโชว์ โดยเป็นวัวที่เกษตรกรใน อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้เลี้ยง
แนะนำให้เกษตรเลี้ยงวัวสายพันธุ์นอกเพิ่มขึ้น นำมาผสมพันธุ์กับวัวพันธุ์พื้นเมือง จะทำให้ได้วัวที่มีขนาดใหญ่ เนื้อเยอะ แข็งแรง หากโครงสร้างดีสามารถพัฒนาเป็นพ่อแม่พันธุ์ มีมูลค่าหลักแสนต่อตัว
ทางด้านนายธีรศักดิ์ นาคใหญ่ ปศุสัตว์อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ความสนใจเลี้ยงโคเนื้อมากขึ้น จากเดิมที่ประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่เลี้ยงโคนมอันดับที่ 5 ของประเทศ
ข้อได้เปรียบคือ เกษตรกรสามารถเลี้ยงโคในพื้นที่เกษตรกรรมได้ โดยเฉพาะการเลี้ยงในสวนมะพร้าว สวนปาล์ม ซึ่งประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวและสับปะรดมากที่สุดในประเทศ เป็นระบบการเลี้ยงที่เกื้อกูลกัน เพราะวัวสามารถให้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยแก่พืชเศรษฐกิจได้ จึงทำให้มีต้นทุนต่ำ
นอกจากนี้ ในงานยังมีการประกวดความสวยงามตรงตามลักษณะพันธุ์แท้ ประกอบด้วยการประกวด 1.สายพันธุ์ฮินดูบราซิล 2:สายพันธุ์ชาโรเล่ส์ 3.สายพันธุ์บราห์มัน 4.สายพันธุ์พื้นเมืองหรือวัวไทย 5.แพะ 6.ไก่แจ้