เกษตรมีดี » ‘เฉลิมชัย’ ปล่อยขบวนเรือตรวจประมง บังคับใช้มาตรการปิดอ่าวไทย

‘เฉลิมชัย’ ปล่อยขบวนเรือตรวจประมง บังคับใช้มาตรการปิดอ่าวไทย

11 กุมภาพันธ์ 2022
884   0

‘เฉลิมชัย’ ปล่อยขบวนเรือตรวจประมงทะเลที่อ่าวประจวบฯ บังคับใช้มาตรการปิดอ่าวไทย หวัง ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเปิดโครงการกระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภค

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ที่บริเวณชายทะเลอ่าวประจวบคีรีขันธ์ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 หน้าศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ปี 2565 และเปิดโครงการกระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภค

โดยมี นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายชาวประมง และประชาชนในพื้นที่ร่วมพิธี 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกอบพิธีบวงสรวงพระรูป พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จากนั้นได้ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ปี 2565

เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวซึ่งเป็นมาตรการที่ประกาศกำหนดโดยอธิบดีกรมประมง อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 70

มีสาระสำคัญเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน กำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. – 14 มิ.ย. ของทุกปี ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี

เนื่องจากผลการศึกษาทางวิชาการของกรมประมง พบว่าพื้นที่ทะเลอ่าวไทยใน 3 จังหวัดดังกล่าว เป็นพื้นที่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทู โดยระยะที่ 1 จะมีการปิดอ่าวไทยในพื้นที่ตั้งแต่ปลายแหลมเขาตาม่องล่าย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึง อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ในทะเล 27,000 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลาห้ามทำการประมง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.- 15 พ.ค.

ส่วนระยะที่ 2 จะมีการปิดอ่าวไทยตามระยะที่ 1 แต่ปรับลดลงมาให้คงห้ามทำการประมงในระยะใกล้ฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนอพยพไปยังพื้นที่เลี้ยงตัวอ่อนในอ่าวไทยตอนใน ครอบคลุมพื้นที่ 5,300 ตารางกิโลเมตร และกำหนดห้ามทำการประมงเพิ่มเติมในพื้นที่ตั้งแต่เขาตาม่องล่ายไปทางทิศเหนือ จรด อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ 2,900 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.- 14 มิ.ย.

อย่างไรก็ตาม ได้มีการยกเว้นการใช้เครื่องมือประมงบางชนิด ตามที่ระบุไว้ในประกาศเพื่อให้ชาวประมงสามารถทำการประมงได้ในช่วงเวลาที่มีการปิดอ่าว

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า การประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทย ทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศและมีการแพร่กระจายของลูกปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการอย่างชัดเจน

ส่วนพื้นที่อ่าวไทยบริเวณบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบของลูกปลาทูและสัตว์น้ำชนิดอื่น พบว่า ระยะเวลา และพื้นที่บังคับใช้มาตรการ สอดคล้องกับการเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำขนาดเล็ก

แสดงให้เห็นว่า ปลาเริ่มเคลื่อนย้ายเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก เป็นแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนที่สำคัญ ลดการจับพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่มีไข่และคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนไม่ให้ถูกจับมาใช้ประโยชน์มากเกินควร ซึ่งประกาศกรมประมงดังกล่าวเกิดจากความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมประมง

ผู้แทนชาวประมงพาณิชย์และชาวประมงพื้นบ้าน ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เน้นการพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวประมงเพื่อป้องปรามไม่ให้กระทำผิด  ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมาย

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหนังสือรับรองมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนให้แก่ ชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 8 ราย มอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง (กิจกรรมพัฒนาอาชีพชุมชนประมง) ประจำปี 2565

ให้แก่ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 8 องค์กร มอบแผ่นป้ายกุ้งก้ามกรามสัญลักษณ์โครงการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกราม ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อสร้างรายได้ให้ผู้นำ ผู้แทน ชุมชน จำนวน 8 ราย จากนั้น ได้เปิดป้ายประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ปี 2565

พร้อมปล่อยขบวนเรือตรวจประมงทะเล 8 ลำ บริเวณชายทะเลอ่าวประจวบฯ เพื่อออกตรวจป้องกันการกระทำผิดตามมาตรการปิดอ่าวไทย และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งลงสู่ทะเล จำนวน 220,000 ตัว ได้แก่ พันธุ์กุ้งกุลาดำ 100,000 ตัว พันธุ์กุ้งแชบ๊วย 100,000 ตัว และพันธุ์ปลากะพงขาว 20,000 ตัว

กิจกรรมในวันนี้ ยังมีการจัดโครงการกระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภคหรือ Fisherman Market โดยเปิดโอกาสให้ชาวประมงได้นำสินค้าประมงพื้นบ้านมาจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อสร้างรายได้ มีเกษตรกร และชาวประมงพื้นบ้านนำสินค้าประมงมาจำหน่ายกว่า 30 ร้าน

อาทิ หอยนางรม ปูม้า หอยแมลงภู่ ปลาทะเล ปลาทราย รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น หมึกแห้ง ปลาอินทรีย์แดดเดียว ปลาเค็ม กะปิ น้ำพริกปูม้า หอยแมลงภูดอง ปลากะตักทอดกรอบ กุ้งหวาน หมึกกะตอย กุ้งแห้ง ห่อหมกทะเล เป็นต้น

สำหรับ จ.ประจวบฯ มีพื้นที่ติดทะเลอ่าวไทยทุกอำเภอ มีความยาวชายฝั่งทะเล 224.8 กิโลเมตร มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ ชาวประมงประกอบอาชีพทางการประมงที่หลากหลายทั้งการประมงชายฝั่งแบบพื้นบ้านและประมงในเชิงพาณิชย์

มีเรือประมงด้วยเครื่องมือประมงพาณิชย์ 612 ลำ  เรือประมงพื้นบ้าน 3,546 ลำ มีผู้ประกอบอาชีพการประมง 4,320 คน มีผู้ประกอบการต่อเนื่องเกี่ยวกับกิจกรรมประมงทะเล ได้แก่แพปลา จ้านวน 310 แพ  ท่าเทียบเรือประมง 45 แห่ง

ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือประมงพาณิชย์จำนวน 29 แห่ง ท่าเทียบเรือบริการน้ำ น้ำแข็ง 2 แห่ง  ท่าจอดเรือประมง 9 แห่ง มีมูลค่าสัตว์น้ำจากการทำการประมง ปี 2564 จำนวนกว่า 3,081 ล้านบาท ที่ผ่านมา จ.ประจวบฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันยับยั้งและขจัดการทำประมงผิดกฎหมายมาโดยตลอด