Cr.ฐิติชญา แสงสว่าง/สามร้อยยอด
กลุ่มผู้ปลูกสับปะรด จัดงาน “สับปะรดสยามโกลด์ สามร้อยยอด” ส่งเสริมการปลูกสับปะรดผลสด หวังเป็นทางเลือก ลดความเสี่ยงราคาผลผลิตสับปะรดตกต่ำ ชูจุดเด่นสับปะรดเนื้อดี รสชาติหวานฉ่ำ ที่สำคัญกินแล้วไม่กัดลิ้น วางจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิมและเลือกซื้อเป็นของฝากในช่วงเทศกาลสงกรานต์
วันที่ 8 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพศาล ช่อผกา นายอำเภอสามร้อยยอด เป็นประธานเปิดงาน “สับปะรดสยามโกลด์ สามร้อยยอด” โดยมี นายวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , นายนพดล เบ็ญจกุล เกษตรอำเภอสามร้อยยอด , นายกำพล เต็งประเสริฐ นายกเทศมนตรีตำบลไร่เก่า , ว่าที่ร้อยตรีดนัย ปาน้อยนนท์ นายกเทศมนตรีตำบลไร่ใหม่ , ร.ต.ต.ธิติ เนตรสว่าง นายก อบต.สามร้อยยอด , นายอรรถวิทย์ เต็งประเสริฐ กำนันตำบลไร่เก่า , นายสุภาพ ไทยอุดมทรัพย์ กำนันตำบลศาลาลัย พร้อมด้วยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และประชาชนทั่วไป ร่วมในพิธี
นายชาญชัย ธนะกมลประดิษฐ์ ประธานกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดสยามโกลด์ สามร้อยยอด กล่าวว่า อำเภอสามร้อยยอดประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร และสับปะรดเป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่นิยมปลูกกันมาก แต่ด้วยสถานการณ์ราคาสับปะรดตกต่ำมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทำให้เกษตรกรเริ่มปรับเปลี่ยนการปลูกสับปะรดเพื่อส่งเข้าโรงงาน มาเป็นสับปะรดผลสดมากขึ้น โดยได้รับการส่งเสริม และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดผลสดจาก สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบฯ และได้รับการสนับสนุนหน่อพันธุ์จากกรมส่งเสริมการเกษตร
ซึ่งสับปะรดสยามโกลด์เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาผลผลิตสับปะรดโรงงานตกต่ำ และยังมีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ รสชาติหวาน หอม เนื้อเหลือง วิตมินซีสูง เก็บไว้ได้นาน และที่สำคัญกินแล้วไม่กัดลิ้นอีกด้วย
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมการผลิต และการตลาด จึงต้องเน้นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่าย และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ปลูกสับปะรด เพิ่มโอกาส และช่องทางการจำหน่ายให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้หลังจากทำพิธีเปิดแล้ว นายอำเภอสามร้อยยอด ยังได้เยี่ยมชมบูทจำหน่ายสับปะรดผลสด และพูดคุยกับเกษตรกรที่นำสับปะรดมาจำหน่าย พร้อมกันนี้ยังได้ชิมสับปะรดสยามโกลด์ สามร้อยยอด ยืนยันว่าทั้งหวาน ทั้งหอม และไม่กัดลิ้นจริงๆ
สำหรับงานดังกล่าวได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 เมษายน 2565 ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.สามร้อยยอดฝั่งขาล่องใต้ และจะนำไปจำหน่ายที่ปั๊ม ปตท.ศาลาลัย ฝั่งขาขึ้นกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 15-17 เมษายน 2565
เพื่อเปิดตลาดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางลง 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แวะชิมและอุดหนุนเกษตรกรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ดังกล่าว