เป็นข่าว » ภัยแล้งคุกคามหนัก! ‘ทุ่งหญ้าพืชอาหารช้างป่า’ กระทิงและวัวแดง กลายสภาพเป็น ‘ทุ่งหญ้าสะวันนา’ แล้ว 

ภัยแล้งคุกคามหนัก! ‘ทุ่งหญ้าพืชอาหารช้างป่า’ กระทิงและวัวแดง กลายสภาพเป็น ‘ทุ่งหญ้าสะวันนา’ แล้ว 

9 มีนาคม 2020
1484   0

“อุทยานแห่งชาติกุยบุรีถูกภัยแล้งคุกคามหนัก ทุ่งหญ้าพืชอาหารช้างป่า กระทิงและวัวแดง กว่า 2,000 ไร่ แห้งกรอบ กลายสภาพเป็น ‘ทุ่งหญ้าสะวันนา’ แล้ว  ส่งผลกระทบทำให้ช้างและสัตว์ป่าขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม ถอยร่นเข้าไปหากินในป่าลึก ไม่ออกมาให้นักท่องเที่ยวเห็นตัว หลายฝ่ายเป็นห่วงหากฝนไม่ตกใน 1-2เดือนนี้ อาจเข้าขั้นวิกฤติ ขณะที่ยอดนักท่องเที่ยวลดลงกว่าครึ่ง ทั้งจากภัยแล้งและสถานการณ์โรคโควิด-19″

วันที่ 9 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสินาทร โอ่เอี่ยม นายอำเภอกุยบุรี พร้อมด้วย นายรักพงษ์ บุญย่อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี  , นายศรีสวัสดิ์  บุญมา กำนันตำบลหาดขาม  , ผู้ใหญ่บ้าน  และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เข้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

โดยล่าสุดสภาพแปลงหญ้าซึ่งเป็นพืชอาหารช้างป่า กระทิง และวัวแดง เนื้อที่ 2,000 ไร่ กระจายตามจุดต่างๆ ทั้งที่บริเวณจุดชมวิวหน้าผาซึ่งเป็นจุดชมช้างป่าและกระทิง ,บริเวณจุดชมวิวโป่งสลัดได  ,พุยายสาย ตลอดจนจุดอื่นๆ  กลายสภาพจากเขียวขจีเป็นสีน้ำตาลและแห้งกรอบเป็นริเวณกว้าง ทำให้ช้างป่าและสัตว์ป่าต่างๆไม่สามารถกินหญ้าเหล่านี้เป็นอาหารได้ ทำให้สัตว์ป่าทั้งหมดต้องถอยร่นเข้าป่าลึก ที่ยังเหลือน้ำ และอาหารแทน

นอกจากแปลงหญ้าที่แห้งกรอบคล้ายทุ่งหญ้าสะวันนาแล้ว  สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงหลายเดือนยัง จึงส่งผลกระทบต่อบ่อน้ำสำหรับสัตว์ป่า ทั้งขนาดใหญ่ จำนวน 15 บ่อ ที่ขุดกักเก็บน้ำไว้ให้ช้างป่าและสัตว์ป่า ลงกินน้ำและเล่นน้ำ กระจายตามจุดต่างๆ ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียงบ่อละ 20-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  เนื่องจากในลำห้วยไม่มีน้ำไหลลงมาเติม  ส่วนกระทะน้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร ลึก 1 เมตร จำนวน 43 จุด ซึ่งทำไว้เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าขนาดเล็กลงมากินน้ำ

โดยในเบื้องต้น นายสินาทร โอ่เอี่ยม นายอำเภอกุยบุรี และ นายรักพงษ์ บุญย่อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และกำนันตำบลหาดขาม มีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและเกิดผลกระทบกับแปลงพืชอาหารสัตว์ป่า และแหล่งน้ำ  แม้ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้รถบรรทุกน้ำ หมุนเวียนเติมอย่างต่อเนื่อง วันละประมาณ 3-4 เที่ยว หรือประมาณ 30,000 ลิตร มานานถึง 2 เดือนแล้ว แต่หากภายใน 1 -2 เดือนจากนี้ยังไม่มีฝนตกลงมา คาดว่าจะไม่มีน้ำเติมให้แหล่งน้ำของสัตว์ป่า และแปลงหญ้าแห้งตายทั้งหมด

โดยในวันที่ 13 มีนาคม 2563 ทางอุทยานแห่งชากุยบุรี ร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอกุยบุรี กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ และภาคเอกชน จะระดมรถน้ำมาพ่นน้ำในแปลงหญ้าเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้หญ้าแตกยอดใหม่ ในวันช้างไทย 13มีนาคม ที่จะถึงนี้  

นายรักพงษ์ บุญย่อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี  กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้วางแผนทำรางระบายน้ำรอบกระทะน้ำลักษณะเหมือนตีนตุ๊กแก  ทั้งนี้กระทะน้ำหลายจุดได้ติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลขึ้นมาเติมน้ำในกระทะเองโดยใช้พลังงานโซล่าเซลล์  เมื่อเติมน้ำเต็มกระทะแล้วปั้มน้ำจะหยุดแต่หากทำตีนตุ๊กแก  จะช่วยให้น้ำไหลไปตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้แปลงหญ้าใกล้เคียงกระทะน้ำมีความชุ่มชื่นและแตกยอดเป็นอาหารสำหรับสัตว์ป่าได้บ้าง จะช่วยให้ช้างป่า กระทิง และวัวแดง มากินประทังได้ในช่วงฝนทิ้งช่วงซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับภัยแล้งยาวนานอีกกี่เดือน

ทั้งนี้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลทำให้ช้างป่า กระทิงและวัวแดง ที่เคยออกมากินหญ้าในแปลงพืชอาหารช้าง ซึ่งเป็นจุดชมสัตว์ป่าตามธรรมชาติของอุทยานฯ ได้รับผลกระทบสัตว์ป่าที่เคยออกมากินหญ้า วันละ 10-30 ตัว หรือมากกว่านี้ กลับไม่ออกมาแล้ว บางวันไม่มีช้างป่าออกมาให้เห็นตัว หรือบางวันมีช้างออกมาให้เห็นเพียงแค่ 1-5 ตัวเท่านั้น เพราะต้องถอยร่นเข้าป่าลึกเพื่อหาอาหารกิน

ส่วนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า พบว่าขณะนี้มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมาท่องเที่ยวแล้วไม่เจอสัตว์ป่า รวมทั้งผลกระทบจากไวรัสโควิด -19 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงกว่าครึ่งจากช่วงเวลาปกติเลยที่เดียว