เป็นข่าว » หัวหินเจอโรคอุบัติใหม่ใน ‘ม้าชายหาด’ ป่วยตายพร้อมกัน 6 ตัวรวด หวั่นเป็น ‘กาฬโรคม้า’ ซ้ำรอยนครราชสีมา

หัวหินเจอโรคอุบัติใหม่ใน ‘ม้าชายหาด’ ป่วยตายพร้อมกัน 6 ตัวรวด หวั่นเป็น ‘กาฬโรคม้า’ ซ้ำรอยนครราชสีมา

29 มีนาคม 2020
777   0

หัวหินพบม้าชายหาด ป่วยตายพร้อมกัน  6 ตัว รวด เบื้องต้นยังไม่ทราบโรคที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ ‘กาฬโรคม้า’ ซ้ำรอยนครราชสีมา  ล่าสุดเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอหัวหินและด่านกักกันสัตว์ฯ เร่งระดมเจ้าหน้าที่ พ่นยาฆ่าเชื้อทั้งจุดที่พบม้าป่วยตาย และตามคอกม้าต่างๆในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน พร้อมผ่าพิสูจน์เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ และเลือดส่งตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก จังหวัดราชบุรี หาสาเหตุที่แท้จริง คาดสัปดาห์หน้าทราบผล 

วันที่ 29 มีนาคม 2562  น.สพ.พิทยา  คณะมะ ปศุสัตว์อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  พร้อมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอหัวหิน สนธิกำลังร่วมกับ นายธวัช รัดยิ่ง เจ้าพนักงานสัตวบาล พร้อมเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 4 คน ลงพื้นที่ซอยเขาพิทักษ์  ซอยบ่อนไก่ เขตเทศบาลเมืองหัวหิน ซึ่งเป็นสถานที่เลี้ยงม้าชายหาดหัหวิน โดยมีนายวัชรพงษ์ ไกรวาส ประธานชมรมม้าชายหาดหัวหิน  พาเจ้าหน้าที่ตระเวนตรวจสอบตามคอกม้าทุกจุดในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน พร้อมทำการเร่งพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ภายในบริเวณคอกม้ารวมทั้งพื้นที่โดยรอบ เน้นหนักคอกม้าที่พบว่ามีม้าป่วยตายไปแล้วจำนวน 6 ตัว  และจะดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อพื้นที่โดยรอบรัศมี 2 กิโลเมตร ของจุดที่มีม้าป่วยตาย ภายในซอยเขาพิทักษ์ ซอยบ่อนไก่ เขตเทศบาลเมืองหัวหิน โดยในเบื้องต้นมีม้าอยู่ประมาณ 70 กว่าตัว

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ แบ่งออกเป็น 2 ทีมคือ ทีมเคลื่อนที่เร็วนำถังน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสะพายหลังนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เข้าไปยังคอกม้าที่อยู่ในซอยแคบ และเป็นคอกขนาดเล็ก 1-3 ตัว และใช้รถยนต์บรรทุกเครื่องพ่นยาที่สามารถลากสายหัวฉีดแรงดันสูง เข้าไปฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อได้ในพื้นที่กว้าง สำหรับคอกม้าขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 3-7 ตัวขึ้นไป

นายวัชรพงษ์ ไกรวาส ประธานชมรมม้าชายหาดหัวหิน กล่าวว่า เริ่มพบม้าป่วยและทยอยตายในเวลาไล่เรี่ยกัน โดยล่าสุดทางชมรมม้าชายหาดได้งดนำม้าออกให้บริการนำเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดหัวหินตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาและจะหยุดให้บริการไปจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2563 นี้ ส่วนตัวมีม้าอยู่ในการดูแล 3 ตัว เมื่อพบว่าสมาชิกในชมรมมีม้าป่วยตายภายในระยะเวลารวดเร็ว ทำให้รู้สึกกังวล จึงได้ประสานขอให้ทางสัตวแพทย์นำยาฆ่าเชื้อมาพ่นเพื่อป้องกันโรค ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ ต้องรอผลตรวจยืนยันก่อน

ทางด้านนายสอาด บุญเจือ เจ้าของคอกม้า  เปิดเผยว่า สมาชิกในชมรมได้แจ้งข่าวการป่วยตายของม้าชายหาดในกลุ่ม โดยได้ส่งคลิปวีดีโอนาทีม้าป่วยที่พยายามจะลุกขึ้นสุดท้ายก็ล้มตัวลงขาดใจตาย ถือเป็นภาพที่น่ากลัวมากสำหรับคนเลี้ยงม้า เพราะการป่วยแค่ 2-3วัน แล้วตายแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โรคของม้าปกติแค่ท้องอืดตายเป็นหลัก รู้สึกกลัวอย่างมากว่าจะเกิดขึ้นคอกม้าของตนเอง  ซึ่งที่คอกของตัวเองขณะนี้มีม้าอยู่ 7 ตัว มีม้าโตที่ออกให้บริการนำเที่ยวได้ 2 ตัว  ราคาม้าขณะนี้มีราคาตั้งแต่ 3หมื่น-5หมื่นบาทขึ้นไป แต่หากเป็นม้าสีสวย ลักษณะดี ราคาจะขยับขึ้นไปหลักแสนบาท ซึ่งยอมรับว่ากลัวมาก ตอนนี้ไม่ได้นำม้าไปให้บริการนำเที่ยว เพราะไม่คุ้มกัน โดยเร่งทำความสะอาดฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคและติดตามดูม้าของตนเองตลอดเวลา

ด้าน น.สพ.ยุษฐิระ บัณฑุกุล  ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า  สำหรับสถานการณ์ม้าป่วย-ตาย ในพื้นที่อำเภอหัวหิน นั้นเริ่มรับรายงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มีนคม 2563 ที่ผ่านมาว่า พบม้าป่วย มีอาการซึม ล้มนอน หนาวสั่น แล้วล้มตาย ในซอยเขาพิทักษ์ บ่อนไก่ ต.หัวหิน อ.หัวหิน หลังจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้รับแจ้งจึงเข้าพื้นที่ เพื่อสอบสวนโรคและเฝ้าระวังโรคในม้าอื่นๆ โดยรอบ พบว่ามี ม้าป่วย ตั้งแต่วันที่ 14-28 มีนาคม 2563 จำนวน 6 ตัว เป็นกลุ่มม้ารุ่นและม้าโต อาการที่แสดงคือ ซึม ไม่กินอาหาร ปากบวม ลิ้นบวม เยื่อเมือกเป็นสีคล้ำ กล้ามเนื้อสั่น เดินเซ ไข้สูงในบางตัว และตายหลังจากแสดงอาการภายใน 2 -3 วัน  ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ทำการรักษาตามอาการ และเก็บตัวอย่างจากสัตว์ป่วยส่งวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ ในเบื้องต้นพบผลเป็นลบต่อโรคเซอรา หรือที่เรียกว่าปรสิตหรือพยาธิในเลือด (Trypanosomiasis) ซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกับอาการที่ม้าป่วยข้างตัน อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังรอผลตรวจโรคเพิ่มเติมจากทางห้องปฏิบัติการ

เบื้องต้นสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อลดการสูญเสียและการแพร่โรค โดนสั่งกักม้าที่ป่วยแยกออกจากฝูง ไม่ใช้สิ่งของหรืออุปกรณ์ร่วมกับม้าที่ป่วย ระงับการเคลื่อนย้ายม้าเข้าและออกในพื้นที่และหลีกเลี่ยงการนำม้าใหม่เข้ามาเลี้ยง ทำลายเชื้อโรคตามยานพาหนะที่เข้า-ออก คอกม้าและพื้นที่โดยรอบ ประกอบกับสืบค้นข้อมูลในการเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อ เข้าในพื้นที่ เพื่อทราบปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค รวมทั้งให้คำแนะนำกับเจ้าของม้าในบริเวณดังกล่าว ให้มีการดูแลและป้องกันม้าจากแมลงที่เป็นพาหะนำโรค

โดย น.สพ.จามร  ศักดินันท์ หัวหน้ากลุ่มสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ได้ผ่าพิสูจน์และนำเศษชื้นเนื้อและเลือดของม้าตัวที่ป่วยส่งตรวจพิสูจน์ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก จ.ราชบุรี คาดทราบผลในสับดาห์หน้า   และเตรียมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพ่นสเปย์หมอกยากำจัดแมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหะนำโรคในม้าด้วย

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า เมื่อเมื่อวันที่ 27 มีนคม 2563 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้แถลงข่าวการพบการระบาตของโรคกาฬโรคม้า(African Horse Sickness) ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยและมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ โดยมีบางอาการของโรคดังกล่าวคล้ายกับอาการป่วยของม้าชายหาดที่ อ.หัวหิน ทั้งนี้โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน โดยทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะแจ้งผลการวินิจฉัยโรคให้ทราบต่อไป