สิ่งแวดล้อม » ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จัดกิจกรรม “ปั้นเมล็ดพันธุ์พืช”

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จัดกิจกรรม “ปั้นเมล็ดพันธุ์พืช”

20 กรกฎาคม 2023
812   0

 

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จัดกิจกรรม “ปั้นเมล็ดพันธุ์พืช” เตรียมนำไปโปรยในผืนป่าต้นน้ำแก่งกระจาน ทั้งมะค่าโมง กะพี้จั่น แดง และพะยูง เพิ่มพื้นที่ป่าและความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนป่ามรดกโลก 

วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นายสินชัย พึ่งตำบล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ เป็นประธานเปิดกิจกรรมปั้นเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช สร้างผืนป่า สร้างความชื้น เพิ่มโอกาสการทำฝน ประจำปี 2566

โดยมี นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นายอติชาติ ชัยศรี รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นายฐิติกร จรรยาธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ฝนหลวงหัวหิน นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายอนิรุจน์ อัครพงศ์ตระกูล นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ

พร้อมด้วย นักบิน ช่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อาสาสมัครฝนหลวง เจ้าหน้าที่กรมฝนหลวง ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม ปั้นเมล็ดพันธุ์ ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ภายในท่าอากาศหัวหิน ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดกิจกรรมโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช สร้างผืนป่า สร้างความชื้น เพิ่มโอกาสการทำฝน ประจำปี 2566 ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ที่จะมาถึงนี้ ที่ทรงมีพระราชประสงค์และพระราชปณิธานที่ จะสืบสาน รักษา และต่อยอดเกี่ยวกับ “ศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

และเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ ตลอดจนน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้สร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ

นายสินชัย พึ่งตำบล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมปั้นเมล็ดพันธุ์พืชในครั้งนี้ จะใช้ดินเหนียวมาปั้นปิดเมล็ดพันธุ์พืช จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ มะค่าโมง กะพี้จั่น แดง และพะยูง กว่า 100 กิโลกรัม เพื่อนำไปโปรยในพื้นที่ป่าสร้างความสมบูรณ์และชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ตามพื้นที่เป้าหมายในจุดที่ไม่สามารถเข้าไปปลูกป่าได้ ซึ่งในปี 2566 นี้

มีพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี คือพื้นที่ ต.ยางน้ำกลัดเหนือ และยางน้ำกลัดใต้ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี การสร้างพื้นที่ป่าจะส่งผลต่อระบบนิเวศและการทำฝนหลวง เนื่องจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ต้นทุนในการให้กำเนิดความชื้นที่จะก่อตัวเป็นเมฆ การตกเป็นฝนกลับสู่พื้นที่ป่าที่เป็นต้นน้ำ ซึ่งไหลลงสู่พื้นที่การเกษตร และแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ ทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า ผืนป่าทั่วประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาส่วนใหญ่ของผืนป่าที่ลดลงในปัจจุบัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความต้องการใช้ที่ดินทำกินและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของราษฎรที่เข้าไปบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเกษตร ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยถูกทำลายมากขึ้นทุกๆ ปี ส่งผลให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศลดลง ส่งผลต่อเนื่องสู่การเกิดฝน และปริมาณน้ำฝนตามธรรมชาติมีค่าผิดปกติ

ทางด้าน นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า การนำเมล็ดพันธุ์พืชที่ปั้นดินดังกล่าวไปโปรยในพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นสิ่งที่ดีมาก อีกทั้งเมล็ดพันธุ์ทั้ง 4 ชนิด ทั้งมะค่าโมง กะพี้จั่น แดง และพะยูง เป็นไม้พื้นถิ่นของป่าแก่งกระจาน โตเร็ว ทนต่อสภาพอากาศและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง 

สำหรับโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ถือได้ว่าเป็นการทำงานเชิงบูรณการที่มีผลดี ช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งทุกฝ่ายตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำ และน้อมนำแนวพระราชดำริ ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเอื้อประโยชน์ต่อพื้นที่ชุมชน.