ทุกทิศทั่วไทย » ผู้ช่วย รมว.สธ.เผย ไทยมีผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมเสี่ยง พร้อมชื่นชมทีมงาน CNF เข้มแข็ง

ผู้ช่วย รมว.สธ.เผย ไทยมีผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมเสี่ยง พร้อมชื่นชมทีมงาน CNF เข้มแข็ง

31 มกราคม 2024
140   0

ผู้ช่วย รมว.สธ.เผย ไทยมีผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมเสี่ยงจากการกิน ย้ำชัด การรักษาที่ได้ผลดี นอกจากมีแพทย์เชี่ยวชาญและเครื่องมือพร้อมแล้ว ยังต้องมีเครือข่ายส่งต่อที่เข้มแข็ง พร้อมเปิดการประชุมวิชาการเครือข่ายหัวใจ “CNF 15th CARDIAC NETWORK FORUM 2024”  ชื่นชมทีมงาน CNF เข้มแข็ง

วันที่ 31 มกราคม 2567 รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการเครือข่ายหัวใจ ครั้งที่ 15 “CNF 15th CARDIAC NETWORK FORUM 2024 : บูรณาการ ประสานพลัง สร้างนวัตกรรมใหม่ หัวใจไร้กังวล”

จัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 โดยโรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และสมาคมพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก (ประเทศไทย)

โดยมี นพ.กิตติ กรรภิรมย์ รักษาการผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวรายงานการจัดงาน และมี นพ.พงษ์ศักดิ์ โสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการ สุขภาพ ( Service Plan ) สาขาโรคหัวใจและประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการและประเมินผลงานทางวิชาการ Cardiac Network Forum 2024, นพ.วรา เศลวัตนะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นพ.จิตตรัตน์ เตชวุฒิพร ผอ.รพ.หัวหิน,นพ.โตมร ทองศรี ประธานวิชาการ CNF, นพ.พลพรรธน์ อยู่สวัสดิ์ แพทย์หัวหน้าศูนย์หัวใจ รพ.หัวหิน ประธาน Service Plan โรคหัวใจ จ.ประจวบคีรีขันธ์, ทีมงานศูนย์หัวใจ และทีมงานสหวิชาชีพ รพ.หัวหิน,

นางสาวบุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน, นายอาชวันต์ กงกะนันทน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบคีรีขันธ์, นางสุมาลี มณีไมตรี รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนิเทศก์ 13 เขต ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก รวมจำนวน 771 คน เข้าร่วมประชุมวิชาการ ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมเพชรบุรี โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จ.เพชรบุรี

สำหรับการประชุมวิชาการเครือข่ายโรคหัวใจครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัดกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อถ่ายทอดและต่อยอดแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทั้งเป็นการพัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจของประเทศไทยให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีการบรรยายทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ การประกวดผลงานทางวิชาการและงานเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ

รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดงาน CARDIAC NETWORK FORUM 2024 ซึ่งโรงพยาบาลหัวหิน เป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้นเป็นครั้งที่ 15 ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า โรคหัวใจ มีความสำคัญเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย และเป็นสาเหตุอันดับที่ 1 ของโลกด้วย

หากสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งโรคหัวใจต้องการเครื่องมือที่ทันสมัย เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพื่อให้การวินิจฉัยของแพทย์มีความแม่นยำขึ้น จำเป็นต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านโรคหัวใจโดยเฉพาะและสิ่งสำคัญจะต้องทำงานเป็นทีมเวิร์คในการส่งต่อที่ดีอีกด้วย

การจัดงาน CNF ในครั้งนี้ เป็นการนำเอาบุคลากรจากหลายภาคส่วนที่เป็นทีมเวิร์คด้านโรคหัวใจ มานำเสนอข้อมูลรายละเอียดทางวิชาการ ว่าได้ทำอะไรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาเป็นวิทยากร เพื่อสอนให้ความรู้และอัพเดตข้อมูลให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งงานในครั้งนี้จัดออกมาได้ดี สื่อถึงความร่วมมือ แม้แต่ภาพขบวนรถไฟยังสื่อถึงการเดินหน้า ก้าวไปข้างหน้า เช่นเดียวกับการรักษาโรคหัวใจที่ต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ

“ครั้งนี้มาจัดงานที่เมืองท่องเที่ยวอย่าง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงได้รับการสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ หรือ ททท.ตลอดจนภาคเอกชนในพื้นที่ คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวคงจะคึกคัก และเศรษฐกิจคงจะดีขึ้นด้วย ได้ทั้งความรู้และการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย” รศ.นพ.เชิดชัย กล่าว

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคหัวใจที่พิการมาแต่กำเนิด อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยตายตัวอยู่ที่ 8 ต่อ 1,000 ส่วนโรคหัวใจที่เจอบ่อยขึ้นในปัจจุบันคือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวมทั้งโรคอื่นที่ส่งผลต่อโรคหัวใจ ซึ่งโรคหัวใจเหล่านี้พบเพิ่มขึ้นเพราะอุปนิสัยการรับประทานอาหารของคนไทยเปลี่ยนไปตามแบบตะวันตกมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยง อันเนี่ยงมาจาก การสูงวัยของประชาชน อวัยวะทั้งหลอดเลือดและหัวใจจะเสื่อมตามมา จึงเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจที่จะไปให้ความรู้ ให้ประชาชนได้ตระหนักว่า ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้างและควรดูแลสุขภาพอย่างไร

ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจ ปัจจุบันมีเยอะขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตโดยจะอยู่ตามโรงพยาบาลเฉพาะทางและศูนย์โรคหัวใจ อีกทั้งปัจจุบันยังมียาที่ทันสมัย ยาตัวใหม่ออกมาตลอด และมีทีมเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญดูแลในภาคองค์รวม เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี ซึ่งขณะนี้มีแพทย์มากขึ้น แต่บางแห่งก็ขาดแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งในภาครวมทุกเขตสุขภาพ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจประจำทุกเขต.