เกษตรมีดี » พช.ประจวบฯ หนุนน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ที่หาดขามกุยบุรี เตรียมขยายผลไปอีก 435 ครัวเรือน

พช.ประจวบฯ หนุนน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ที่หาดขามกุยบุรี เตรียมขยายผลไปอีก 435 ครัวเรือน

24 มกราคม 2020
2463   0

วันที่ 24 มกราคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางยุพิน เศรษฐศักดาศิริ พัฒนาการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นางอำนวยนาถ เอียดสกุล หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศ , นางรัตนากร ศรวัฒนา พัฒนาการอำเภอกุยบุรี , นางเกวลิน โมรา พัฒนาการอำเภอเมืองประจวบฯ , นางพิศมัย ศักดิ์เกิด พัฒนาการอำเภอทับสะแก , นางทัศนีย์ ลือฤทธิ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ , นางสาวช่อฟ้า เจียมสกุล นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ เป็นพัฒนากรเจ้าของพื้นที่ และนางสาวกนกทิพย์ เกษมสุขไพศาล อาสาพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่สำรวจครัวเรือนต้นแบบโคกหนองนาโมเดล ที่บ้านของ นายวิโรจน์ สูงยิ่ง บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 8 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

สำหรับ นายวิโรจน์  สูงยิ่ง เกษตรกรที่ ต.หาดขาม อ.กุยบุรี นั้น ปัจจุบันเป็นครัวเรือนต้นแบบเป้าหมาย “โคกหนองนาโมเดล” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ได้มีการดำเนินทำการเกษตรบนพื้นที่ 11 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ลาดเอียงเชิงเขา โดยปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ จำนวน 1 แปลงพื้นที่ 50 ตรม. พร้อมทั้งปลูกไม้กิน ได้แก่ กล้วย มะเขือ มะนาว มะละกอ บวบ พริก ใช้วิธีปลูกผักเสริมในร่องแปลงกล้วย ระหว่างร่องแปลงปลูกหญ้าแฝก เพื่อลดการชะล้างหน้าดิน และการพังทลายของหน้าดิน เนื่องจากเป็นที่ลาดเอียง

มีการขุดคลองไส้ไก่เพื่อเพิ่มน้ำในดิน ขุดหนองไล่ระดับจำนวน 2 แห่ง ตามแนวคิดการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่างชนิดในระดับน้ำที่แตกต่างกัน  บนขอบบ่อปลูกหญ้าแฝก  มีการขุดหลุมขนมครกดักน้ำในเส้นทางคลองไส้ไก่ มีการทำฝายชะลอน้ำเพื่อลดความเร็ว และความแรงในการไหลของน้ำ  โดยใช้แหล่งน้ำ 2 แหล่ง คือหน้าแล้งใช้น้ำจากเขื่อนยางชุม หน้าฝนใช้แหล่งน้ำจากลำห้วยที่มีถิ่นกำเนิดจากภูเขา และเป็นการทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ ไม่ใช้สารเคมี ทั้งหมด

ทั้งนี้รูปแบบการจัดการน้ำและพื้นที่ทั้งหมด นายวิโรจน์  สูงยิ่ง ได้ไปอบรมมาจาก อาจารย์ยักษ์ หรือ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้น้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร ให้เหมาะสมและผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน  โดยแบ่งพื้นที่ของเกษตรกร ออกเป็น  30 : 30 : 30 : 10  ได้แก่

พื้นที่ 30% แรกสำหรับแหล่งน้ำ ทั้งการขุดบ่อ ทำหนองน้ำและขุดคลองไส้ไก่  พื้นที่ 30% ต่อมา สำหรับทำนาปลูกข้าวไว้กินเองในครัวเรือน  พื้นที่ 30% ส่วนที่ 3 สำหรับทำโคกหรือป่า โดยใช้แนวการปลูก “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เป็นการปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้และไม้เศรษฐกิจ ผสมกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ครอบคลุมทั้งหมด คือ มีผัก ไว้กินเป็น  สามารถตัดไม้เศรษฐกิจไปสร้างบ้าน หรือทำที่อยู่ได้  มีเป็นยาและสมุนไพร  และเป็นฟืน ฯลฯ และอีก 10% สำหรับพื้นที่อยู่อาศัย รวมถึงเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา หมู และ วัว เป็นต้น

นางยุพิน เศรษฐศักดาศิริ พัฒนาการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมโคกหนองนาโมเดล คือการน้อมนำศาสตร์พระราชา ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงพระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทย

สู่การพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศหรือพื้นที่การเกษตรของแต่ละคน ในชื่อ “โคกหนองนา โมเดล” คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ  โคกหนองนา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ

ซึ่งแนวคิดการจัดการน้ำ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อกักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดิน (ด้วยหนอง คลองไส้ไก่ และคันนา) และใต้ดิน (ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างตามแนวพระราชดำริ)  คิดค้นปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

สำหรับ “โคกหนองนา โมเดล” มีองค์ประกอบหลักดังนี้คือ   โคก หรือ พื้นที่สูง ให้ใช้ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ  ได้แก่ ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

หนองน้ำ หรือแหล่งน้ำ คือการขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วมและขุดหลุมขนมครกดักน้ำไว้หน้าแล้ง  อีกทั้งยัง ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้  ทำฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง  และให้พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

นา หรือ พื้นที่นานั้น ให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา

นางสาวช่อฟ้า เจียมสกุล นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ซึ่งเป็นพัฒนากร ต.หาดขาม อ.กุยบุรี กล่าวว่า โคกหนองนา โมเดล  เป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งมักอยู่ในพื้นที่กลางน้ำ ได้ทำการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านแปลงสู่คำภาษาไทยที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ คือ “โคก หนอง นา” โดยยึดหลักว่า ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ

ส่วนหนองน้ำนั้นเพื่อให้น้ำกระจายไปเต็มพื้นที่ให้ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้  นอกจากนั้นยังสามารถทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง

ส่วนพื้นที่นานั้นให้ยกคันนาให้สูงและกว้าง โดยสูง 1-1.2 เมตร ความกว้างตามความเหมาะสม เพื่อให้นาสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ในยามน้ำหลาก  การทำนาน้ำลึก ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดิน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เติบโตด้วยดินที่อุดมจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคและแมลง  ใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน  บนคันนา

และโดยรอบพื้นที่ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย  มีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

โดยขณะนี้พบว่าที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านย่านซื่อ หมู่ที่ 9 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์  ได้มีการทำกิจกรรมของโรงเรียนตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนบ้านย่านซื่อ มีการปลูกผักผสมผสานปลอดสารพิษ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ บนคันนามีการปลูกมะพร้าว กล้วย พริก ไว้บนพื้นที่คันนา และการทดลองปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์ เพาะเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ เป็ดพันธุ์ไข่ บนเนื้อที่ 1 ไร่ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนได้ไปเรียนรู้อีกแหล่งหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตามในปี 2563 นี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จะได้มีการขับเคลื่อนโครงการ ตามแนวทาง “โคกหนองนา โมเดล” ไปยังเกษตกรในทุกหมู่บ้านเพื่อให้ชุมชนเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง   โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เตรียมขยายผลไปสู่ครัวเรือนต้นแบบเป้าหมายโคกหนองนาโมเดล จำนวน  435 ครัวเรือน ในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อไป

Cr.ภาพ/ข้อมูล สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอกุยบุรี